เมียนมาจะนิรโทษกรรม 1,600 คนในวันขึ้นปีใหม่

ย่างกุ้ง 17 เม.ย.- ครอบครัวของผู้ต้องขังจำนวนมากรวมตัวกันหน้าเรือนจำอินเส่งใกล้นครย่างกุ้งของเมียนมา หลังจากรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศว่า จะนิรโทษกรรมผู้ต้องขังประมาณ 1,600 คน ในวันนี้ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของเมียนมา ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นรายงานโดยไม่เปิดเผยชื่อว่า หลายครอบครัวที่ดูกระวนกระวายถือป้ายเขียนชื่อผู้ต้องขังที่เป็นสมาชิกในครอบครัว โดยมีตำรวจนอกเครื่องแบบยืนสังเกตการณ์อยู่ใกล้ ๆ สตรีคนหนึ่งที่บุตรชายวัย 22 ปี ถูกจับกุมขณะประท้วงเมื่อ 8 เดือนก่อนเผยว่า มารอหน้าเรือนจำเนื่องจากบุตรชายส่งจดหมายมาบอกว่าอาจได้รับนิรโทษกรรมในเดือนนี้ ส่วนสตรีอีกคนที่บุตรชายซึ่งเป็นตำรวจถูกจับกุมในเดือนมิถุนายนปีก่อนโทษฐานเข้าร่วมการดื้อแพ่งประท้วงรัฐบาลเผยว่า มารอหน้าเรือนจำทุกครั้งที่มีการนิรโทษกรรม หวังว่าบุตรชายจะได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ พล.ท.อ่อง ลิน เว เลขาธิการสภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมาลงนามแถลงการณ์ที่ประกาศว่า ผู้ต้องขัง 1,619 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 42 คน จะได้รับการปล่อยตัวด้วยการนิรโทษกรรม เป็นส่วนหนึ่งของฉลองวันขึ้นปีใหม่ของเมียนมา เพื่อนำมาซึ่งความสุขให้แก่ประชาชนและแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรม รอยเตอร์ระบุว่า จำนวนผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับที่แล้วที่ปล่อยมากถึง 23,000 คน และยังไม่ชัดเจนว่าจะมีสมาชิกรัฐบาลพลเรือนที่ถูกกองทัพรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หรือไม่ ด้านสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเผยว่า ตั้งแต่รัฐประหารรัฐบาลทหารเมียนมาได้จับกุมคนไปแล้ว 13,282 คน และสังหารผู้ต่อต้าน 1,756 คน.-สำนักข่าวไทย

เทศกาลปีใหม่เมียนมาซบเซาจากการประท้วงและคว่ำบาตร

ฝ่ายต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหารเมียนมา เรียกร้องให้ประชาชนคว่ำบาตรงานฉลองเทศกาลปีใหม่ของเมียนมา ในขณะที่นักเคลื่อนไหวและพระสงฆ์ไม่สนใจกองกำลังความมั่นคง เดินหน้าร่วมกันจัดการประท้วงเล็ก ๆ ต่อต้านการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพเมื่อปีที่แล้ว

จีนว่าจะสนับสนุนเมียนมาไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

จีนกล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งจะยังคงสนับสนุนเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนล่าสุดของจีนในการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาที่มาจากการก่อรัฐประหารของกองทัพ

ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศไม่เจรจากับฝ่ายตรงข้าม

ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าววันนี้ว่า กองทัพเมียนมาจะไม่เจรจากับกองกำลังฝ่ายตรงข้ามที่ถือว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย พร้อมทั้งประกาศจะทำลายล้างกลุ่มเหล่านี้ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านการก่อรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วประกาศจะเดินหน้าสู้ต่อไป

หน่วยบัญชาการพิเศษของเมียนมาได้ไฟเขียวโจมตีพลเรือน

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวในรายงานว่า ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาจัดตั้งหน่วยบัญชาการพิเศษขึ้นมาภายในระยะเวลา 1 วัน หลังจากที่ก่อรัฐประหารโค่นล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ซึ่งมีหน้าที่รับผิดขอบในการจัดวางกำลังทหารและปฎิบัติการของทหารในพื้นที่เขตเมือง

เมียนมาแจ้งทูตอาเซียนเรื่องไม่ให้พบซู จี

พนมเปญ 23 มี.ค.- ทูตพิเศษว่าด้วยเรื่องเมียนมาของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเผยว่า ได้ขอให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ความอดกลั้น และได้รับแจ้งจากผู้นำทหารเมียนมาว่า จะไม่ได้พบกับนางออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำพลเรือนในระหว่างที่เธอกำลังถูกไต่สวน นายปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาในฐานะทูตพิเศษอาเซียน เผยกับสื่อขณะเดินทางกลับมาถึงกัมพูชาในวันนี้ว่า เขาได้พยายามหาทางให้เมียนมาปล่อยตัวนักโทษหลายคน รวมถึงนายฌอน เทอร์เนลล์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย และได้รับคำตอบจาก พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาว่า จะพิจารณาคำขอพบนางซู จี และนักโทษคนอื่น ๆ ในภายหลัง นายปรัก สุคน กล่าวว่า เข้าใจดีที่มีเสียงวิจารณ์ว่า การที่เขาไปเยือนเมียนมาเท่ากับสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา และรู้ว่ามีการคาดหวังว่าการเยือนนี้จะนำมาซึ่งการหยุดยิง หวังว่าเขาจะได้พบกับทุกฝ่ายในเมียนมา และหวังว่าเมียนมาจะกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เขามองว่าการเยือน 2 วันที่ผ่านมาถือเป็นก้าวที่ดีต่อการหาทางแก้ไขวิกฤตเมียนมา อย่างไรก็ดี ประเด็นเมียนมาเป็นเรื่องซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการแก้ไข และไม่สามารถลุล่วงได้ในช่วงเวลาที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนในปีนี้.-สำนักข่าวไทย

โรฮิงญาในบังกลาเทศดีใจสหรัฐชี้ขาดเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ธากา 22 มี.ค. – ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศแสดงความยินดีที่รัฐบาลสหรัฐประกาศว่า การที่รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ความรุนแรงกดขี่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ชายชาวโรฮิงญาวัย 60 ปี ที่ลี้ภัยอยู่ในค่ายแห่งหนึ่งในเขตค็อกบาซาร์ของบังกลาเทศเผยว่า ดีใจมากที่นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐประกาศขณะกล่าวสุนทรพจน์ที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐในกรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ว่า การปราบปรามของเมียนมาถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยอ้างตามคำให้การที่มีการยืนยันเรื่องกองทัพเมียนมากระทำความโหดร้ายกับพลเรือนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญา ชายคนนี้กล่าวว่า รัฐบาลเมียนมาทรมานชาวโรฮิงญาและชุมชนต่าง ๆ มานาน 60 ปีแล้วเริ่มตั้งแต่ปี 2505 เขาเชื่อว่าการประกาศของสหรัฐเปิดทางให้ประชาคมโลกสามารถดำเนินการกับเมียนมาได้ ด้านศูนย์เพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยธากาในบังกลาเทศมองว่า การประกาศของสหรัฐถือเป็นก้าวเชิงบวก แต่จำเป็นต้องดูต่อไปว่า จะมีก้าวที่เป็นรูปธรรมติดตามมาหรือไม่ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการประกาศของสหรัฐจะทำให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้รับการรับรองสถานภาพพลเมืองในเมียนมา คำถามพื้นฐานคือผู้ลี้ภัยที่อยู่ตามค่ายต่าง ๆ ในเขตค็อกบาซาร์ราว 1 ล้านคนจะได้กลับเมียนมาอย่างไรและเมื่อใด ทางศูนย์คาดว่า สหรัฐอาจใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อเมียนมาเป็นมาตรการขั้นถัดไป และต้องรอดูว่าสหรัฐจะสนับสนุนกระบวนการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกในกรุงเฮกที่กำลังไต่สวนเมียนมาในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาตามที่แกมเบียยื่นฟ้องหรือไม่.-สำนักข่าวไทย

รัฐบาลไบเดนชี้ขาดเมียนมา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โรฮิงญา

วอชิงตัน 21 มี.ค.- รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐชี้ขาดอย่างเป็นทางการว่า การที่รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รอยเตอร์อ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐที่ขอสงวนนามว่า นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐจะประกาศการตัดสินใจในวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐในกรุงวอชิงตัน ซึ่งกำลังจัดแสดงนิทรรศการว่าด้วยสถานการณ์เลวร้ายของชาวโรฮิงญา นายบลิงเคนให้คำมั่นขณะรับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2564 ว่าจะทบทวนความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในเมียนมา หลังจากนายไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อนหน้าเขาไม่ตัดสินใจในเรื่องนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐและบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งรวบรวมหลักฐานนำเสนอให้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในเวลานั้นเร่งยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องร้ายแรง เจ้าหน้าที่สหรัฐเผยว่า นายบลิงเคนได้สั่งการให้วิเคราะห์เชิงกฎหมายและข้อเท็จจริง ผลการวิเคราะห์สรุปว่า กองทัพเมียนมากำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และรัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าการชี้ขาดอย่างเป็นทางการจะเพิ่มแรงกดดันของนานาชาติในการทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาต้องรับโทษและทำผิดได้ยากขึ้น คณะทำงานค้นหาความจริงของสหประชาชาติสรุปในปี 2561 ว่า ปฏิบัติการทางทหารในปี 2560 ที่รัฐบาลทหารเมียนมาอ้างว่าเป็นการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย มีการกระทำที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocidal acts) แต่รัฐบาลสหรัฐในเวลานั้นระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) ซึ่งไม่มีคำนิยามทางกฎหมายในกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ทั้งนี้นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐใช้คำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” อย่างเป็นทางการเพียง 6 ครั้งกับเหตุสังหารหมู่ในบอสเนีย, รวันดา, อิรักและดาร์ฟูร์, เหตุกลุ่มรัฐอิสลามปองร้ายชาวยาซิดีและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ และการที่จีนปฏิบัติไม่ดีต่อชาวอุยกูร์และชาวมุสลิม.-สำนักข่าวไทย

สกัดจับแรงงานเถื่อน 17 คน ลักลอบข้ามชายแดน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

ทหารกองกำลังผาเมืองสกัดแรงงานเถื่อน 17 คน ลักลอบข้ามชายแดนด้าน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยเสียค่านำพาคนละ 20,000 บาท

เมียนมาอนุญาตให้ใช้เงินบาทในการค้าขายชายแดน

กระทรวงสารสนเทศและกระทรวงการลงทุนของเมียนมา กล่าววันนี้ว่า เมียนมาจะให้เริ่มยอมรับการใช้เงินบาทของไทยในการค้าขายที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ และกำลังเล็งที่จะใช้ระบบเดียวกันนี้กับเงินสกุลรูปีของอินเดียในการซื้อ-ขายสินค้าที่บริเวณชายแดนด้วยเช่นกัน

เผยทหารเมียนมาโจมตีพื้นที่ฝั่งตะวันออกอย่างหนัก

เนปิดอว์ 15 มี.ค.- เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ที่อยู่ในพื้นที่สู้รบในเมียนมา ร่วม 3 เดือนเผยว่า กองทัพเมียนมากำลังถล่มรัฐกะยา ทางภาคตะวันออกของประเทศทั้งทางบกและทางอากาศครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายเดวิด ยูแบงก์ ผู้อำนวยการกลุ่มฟรีเบอร์มาเรนเจอร์ส (Free Burma Rangers) ที่เป็นกลุ่มบรรเทาทุกข์เผยกับสำนักข่าวเอพีว่า เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเมียนมาโจมตีพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของเมียนมาที่กลุ่มของเขากำลังจัดหาอาหารและยาให้แก่ชาวบ้านที่ติดอยู่ในพื้นที่สู้รบ ขณะที่กองกำลังภาคพื้นดินก็ระดมยิงปืนใหญ่อย่างไม่เลือกหน้า ทำให้ชาวบ้านต้องหนีออกจากบ้านเรือน คลิปที่กลุ่มนี้บันทึกได้เห็นภาพเครื่องบินทหารระดมโจมตีทางอากาศในรัฐกะยาหรือเดิมชื่อรัฐกะเหรี่ยงแดง มีพรมแดนติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง นายยูแบงก์ระบุว่า อาจมีการสู้รบรุนแรงในรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของเมียนมาอย่างประปรายในช่วงหลายปีมานี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐกะยาขณะนี้เรียกว่าร้ายแรงที่สุดในเมียนมา นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เมียนมายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษและถูกญี่ปุ่นยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ ชาวบ้านในพื้นที่ถามเขาว่า ในขณะที่ประชาคมโลกให้ความช่วยเหลือยูเครนที่กำลังถูกรัสเซียรุกราน แต่เหตุใดพวกเขาถึงถูกลืม.-สำนักข่าวไทย

รัฐบาลทหารเมียนมาถอนสัญชาติสมาชิกรัฐบาลเงา

เนปิดอว์ 5 มี.ค.- รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศวันนี้ว่า ได้ถอนสัญชาติเมียนมาของสมาชิกหลายคนในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือเอ็นยูจี (NUG) ที่รัฐบาลทหารประกาศให้เป็นองค์กรก่อการร้าย สมาชิกสภาเมียนมาที่ถูกขับจากสภาได้ตั้งเอ็นยูจีขึ้น หลังจากกองทัพรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ได้หลายสัปดาห์ และประกาศจะล้มล้างการรัฐประหาร หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมตีพิมพ์ประกาศของรัฐบาลทหารในวันนี้ว่า เอ็นยูจีฝ่าฝืนกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และกระทำความผิดที่อาจเป้นอันตรายต่อผลประโยชน์ของเมียนมา สมาชิกเอ็นยูจีจึงถูกถอนสัญชาติเมียนมา ประกอบด้วยโฆษก รัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีสิทธิมนุษยชนของเอ็นยูจี นอกจากนี้ยังรวมถึงนักเขียน 1 คน และนักเคลื่อนไหว 2 คนด้วย ผู้กระทำผิดลักษณะเดียวกันกับคนเหล่านี้จะถูกระบุตัวและดำเนินคดี เอ็นยูจีไม่มีดินแดนในครอบครอง และไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลต่างชาติที่ให้สมาชิกกลุ่มลี้ภัยหรือหลบซ่อนตัวอยู่ ขณะที่นางซู จี วัย 76 ปี ถูกกองทัพเมียนมาควบคุมตัวตั้งแต่ถูกรัฐประหาร และถูกดำเนินคดีหลายข้อหาที่มีโทษจำคุกรวมกันถึง 150 ปี.-สำนักข่าวไทย

1 43 44 45 46 47 131
...