มาเลเซียเดินหน้าค้นหานักท่องเที่ยวตกหลุมยุบ

กัวลาลัมเปอร์ 26 ส.ค.- ทางการมาเลเซียเดินหน้าค้นหานักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่สูญหายไปจากการตกหลุมยุบกลางกรุงกัวลัมเปอร์ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยยังไม่มีวี่แววใดในวันนี้ เว็บไซต์มาเลย์เมลรายงานอ้างสำนักข่าวเบอร์นามาของทางการมาเลเซียว่า เจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัยเริ่มการค้นหาอีกครั้งตั้งแต่เวลา 09.30 น.วันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ 104 คนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม แต่ยังไม่พบวี่แววใด ๆ หลังจากค้นหาทั่วท่อระบายน้ำ 5 ท่อจากทั้งหมด 6 ท่ออีกครั้งในวันนี้ นักท่องเที่ยวหญิงชาวอินเดียวัย 48 ปี สูญหายไป หลังจากตกลงไปในหลุมยุบลึก 8 เมตรในย่านจาลาน มาสจิด อินเดีย กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมได้สั่งการในวันนี้ให้เดินหน้าค้นหาต่อไป หลังจากเมื่อวานนี้ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้สูญหาย พร้อมกับมีคำแนะนำให้ทางการกรุงกัวลาลัมเปอร์พบปะกับสมาชิกครอบครัวของนักท่องเที่ยวรายดังกล่าวเพื่อให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ  ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ของมาเลเซียแถลงเมื่อวันเสาร์ว่า ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดหลุมยุบ ขณะนี้ทางการยังรอรายงานฉบับเต็มจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่นายกเทศมนตรีกรุงกัวลาลัมเปอร์ให้การรับรองว่า กรุงกัวลาลัมเปอร์ รวมถึงย่านที่เกิดเหตุหลุมยุบมีความปลอดภัย และไม่มีหลักฐานสนับสนุนการกล่าวอ้างทางออนไลน์ว่า อาจจะเกิดเหตุหลุมยุบขนาดใหญ่ขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ทุกเมื่อ.-816(814).-สำนักข่าวไทย

สถานการณ์น้ำท่วมในรัฐตรีปุระของอินเดีย

เจ้าหน้าที่อินเดีย รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมและ ดินถล่ม ในรัฐตรีปุระ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เผชิญภัยพิบัติไม่แพ้กับที่เกิดในบังกลาเทศ

หญิงตกหลุมยุบในมาเลเซียยังหาไม่เจอ

เจ้าหน้าที่กู้ภัยมาเลเซียเดินหน้าค้นหานักท่องเที่ยวหญิงผู้โชคร้าย พลัดตกหลุมยุบที่เกิดขึ้นบนทางเท้าในกรุงกัวลาลัมเปอร์ตั้งแต่วันศุกร์ และร่างสูญหายยังหาไม่พบ

โรงงานยาระเบิดในอินเดียดับ 17 คน

โรงงานผลิตยาของบริษัทเอสเซนเทียในรัฐอานธรประเทศ ( อาน-ทะ-ระ-ประเทด) ทางตอนใต้ของอินเดียเกิดเหตุระเบิดในวันพุธ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 คน และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 40 คน

อินเดียสั่งตั้งชุดหมอเฉพาะกิจหลังแพทย์ฝึกหัดถูกข่มขืนฆ่า

นิวเดลี 20 ส.ค. – ศาลฎีกาอินเดียมีคำสั่งตั้งชุดแพทย์เฉพาะกิจระดับประเทศ เพื่อให้คำแนะนำเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน หลังเกิดเหตุแพทย์หญิงวัย 31 ปี ถูกข่มขืนฆ่าในโรงพยาบาลที่เธอเป็นแพทย์ฝึกหัด ศาลฎีกามีคำสั่งในวันนี้ให้ตั้งชุดแพทย์เฉพาะกิจระดับชาติ เพื่อให้คำแนะนำเรื่องมาตรการในการเพิ่มความปลอดภัยในที่ทำงานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และขอให้ตำรวจรัฐบาลกลางส่งรายงานในวันพฤหัสบดีนี้ เรื่องความคืบหน้าในการสอบสวนคดีข่มขืนฆ่าแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลของรัฐในเมืองโกลกาตา ทางตะวันออกของอินเดีย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม คดีนี้ทำให้แพทย์ทั่วอินเดียประท้วงด้วยการไม่ตรวจรักษาคนไข้ไม่ฉุกเฉิน และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงความปลอดภัยในที่ทำงาน รวมทั้งเร่งสอบสวนคดีโดยเร็ว เจ้าหน้าที่จับกุมอาสาสมัครตำรวจคนหนึ่งและตั้งข้อหาอาญาว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ขณะที่นักเคลื่อนไหวสตรีชี้ว่า เหตุการณ์นี้ตอกย้ำให้เห็นว่าสตรีในอินเดียยังคงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ แม้ว่ามีการออกกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น หลังเกิดเหตุนักศึกษาหญิงวัย 23 ปี ถูกรุมข่มขืนและฆ่าบนรถโดยสารที่แล่นไปทั่วกรุงนิวเดลีเมื่อปี 2555 แล้วก็ตาม.-814.-สำนักข่าวไทย  

“แพทองธาร” ขอบคุณ ผู้นำอินเดีย-อินโดนีเซีย-มัลดีฟส์ ร่วมยินดีตำแหน่งนายกฯ

“แพทองธาร” ขอบคุณ ผู้นำอินเดีย-อินโดนีเซีย-มัลดีฟส์ และ รมว.กต.สหรัฐฯ ร่วมยินดีโอกาสรับตำแหน่งนายกฯ ย้ำไทยพร้อมกระชับความสัมพันธ์ทุกประเทศ ต่อยอดประโยชน์-เพิ่มศักยภาพ-ขยายโอกาสประชาชนร่วมกัน

แพทย์อินเดียผละงานประท้วง 24 ชั่วโมง ต่อต้านกรณีข่มขืน-ฆ่าหมอ

แพทย์อินเดียเริ่มการหยุดงานของแผนกที่ไม่ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 24 ชั่วโมงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อประท้วงการล่วงละเมิดทางเพศอย่างโหดเหื้ยม

นายกฯ อินเดียขอบังกลาเทศปกป้องชาวฮินดู

นิวเดลี 15 ส.ค.- นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียกล่าวว่า เขาหวังว่า สถานการณ์ในบังกลาเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และขอให้บังกลาเทศปกป้องชาวฮินดูที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ นายกรัฐมนตรีโมดีกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันเอกราชที่ป้อมแดง ซึ่งเป็นป้อมปราการสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในกรุงนิวเดลีวันนี้ว่า ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน อินเดียเข้าใจดีถึงความกังวลต่อสถานการณ์ในบังกลาเทศ เขาหวังว่า สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชน 1,400 ล้านคนในอินเดียมีความเป็นห่วงความปลอดภัยของชาวฮินดูและชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศ ผู้นำอินเดียกล่าวด้วยว่า อินเดียต้องการให้ประเทศเพื่อนบ้านเดินไปตามเส้นทางแห่งความรุ่งเรืองและสันติภาพอยู่เสมอ อินเดียยึดมั่นต่อการส่งเสริมสันติภาพ เพราะเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมของอินเดีย และจะยังคงอวยพรให้บังกลาเทศเดินหน้าเรื่องการพัฒนาด้วยดี เพราะอินเดียห่วงใยในสวัสดิภาพของมนุษยชาติ บังกลาเทศมีชาวฮินดูประมาณร้อยละ 8 ของประชากรทั้งหมด 170 ล้านคน ชาวฮินดูในบังกลาเทศสนับสนุนพรรคสันนิบาตอวามีของนางเชค ฮาซีนา อดีตนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศมาโดยตลอด แต่หลังจากที่เธอต้องลาออกและหนีออกนอกประเทศไปอินเดียเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม บ้านเรือนและร้านค้าของชุมชนชาวฮินดูถูกผู้ประท้วงในบังกลาเทศทำลายทรัพย์สิน หลายคนพยายามหนีไปอินเดียแต่ไม่สำเร็จ.-814.-สำนักข่าวไทย

สหรัฐปัดเอี่ยวโค่นผู้นำบังกลาเทศ

วอชิงตัน 13 ส.ค.- รัฐบาลสหรัฐปฏิเสธว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับไล่นายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศซึ่งขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในอินเดีย โฆษกทำเนียบขาวตอบคำถามของผู้สื่อข่าวกรณีมีข่าวลือหรือรายงานว่า สหรัฐมีส่วนร่วมในการขับไล่นางเชค ฮาซีนา อดีตนายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศที่ขณะลี้ภัยอยู่ในอินเดียว่า สหรัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในบังกลาเทศแต่อย่างใด การกล่าวหาสหรัฐเป็นเรื่องที่ไม่จริง สหรัฐเชื่อมั่นว่าชาวบังกลาเทศจะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของรัฐบาล และสหรัฐเองยึดมั่นในจุดยืนนี้ หนังสือพิมพ์อีโคโนมิคไทมส์ในอินเดียรายงานเมื่อวันอาทิตย์ว่า นางฮาซีนากล่าวหาสหรัฐว่ามีส่วนร่วมในการโค่นล้มเธอออกจากตำแหน่ง เนื่องจากสหรัฐต้องการเข้ามาควบคุมเกาะเซ็นต์มาร์ตินในอ่าวเบงกอล หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวอ้างว่า นางฮาซีนาเปิดเผยข้อมูลนี้ผ่านมาทางคนสนิท แต่นายชาจีบ วาเจด บุตรชายของเธอโพสต์เอ็กซ์ในวันเดียวกันว่า มารดาไม่เคยพูดเรื่องนี้ เหตุการณ์ประท้วงในบังกลาเทศที่เกิดขึ้นมานานนับเดือนมีชนวนเหตุมาจากความไม่พอใจของนักศึกษาที่ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการจัดสรรโควต้าเข้ารับราชการไว้สำหรับบุตรหลานของทหารผ่านศึกที่เคยร่วมรบในสงครามเรียกร้องเอกราชเมื่อปี 2514 นอกจากนี้ยังมีประชาชนร่วมผสมโรงจากความไม่พอใจเรื่องปัญหาปากท้อง ทำให้นางฮาซีนาไม่สามารถทนแรงกดดันได้อีกต่อไปจนต้องหนีไปลี้ภัยอยู่ในกรุงนิวเดลีของอินเดียเมื่อต้นเดือนนี้.-816(814).-สำนักข่าวไทย

อินเดียประชุมทุกพรรคการเมืองเรื่องวิกฤติบังกลาเทศ

นิวเดลี 6 ส.ค.- อินเดียเปิดการประชุมทุกพรรคการเมืองที่รัฐสภาเป็นการภายในวันนี้ เพื่อหารือเรื่องวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ รอยเตอร์เผยแพร่ภาพข่าวจากสำนักข่าวเอเอ็นไอ (ANI) ของอินเดีย เห็นนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียกล่าวในการประชุมทุกพรรคการเมืองที่มีนายอมิต ชาห์ รัฐมนตรีมหาดไทย นายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีกลาโหม นายราหุล คานธี ผู้นำฝ่ายค้าน และผู้นำพรรคการเมืองอื่น ๆ เข้าร่วม บังกลาเทศกำลังรอการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในวันนี้ หลังจากกองทัพแถลงทางโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ว่า นางเชค ฮาซีนาได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจะมีการตั้งรัฐบาลชั่วคราว บังกลาเทศเกิดการประท้วงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีคนเสียชีวิตรวมกันเกือบ 300 คน สถานการณ์รุนแรงที่สุดเมื่อวันอาทิตย์ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 คนในวันเดียว ทำให้กลุ่มนักศึกษาชักชวนคนทั่วประเทศเคลื่อนขบวนเข้าสู่กรุงธากา เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียเผยว่า นางฮาซีนาวัย 76 ปี เดินทางออกจากกรุงธากาของบังกลาเทศมาถึงท่าอากาศยานทหารฮินดอนใกล้กรุงนิวเดลีของอินเดียในวันเดียวกัน แหล่งข่าวทางการทูตเผยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงบังกลาเทศมีแผนจะเดินทางไปลี้ภัยในอังกฤษ ขณะที่เว็บไซต์บิซิเนสสแตนดาร์ดของอินเดียรายงานคาดว่า เธอจะไปพบกับนางไซมา วาเจด บุตรสาวที่อยู่ในเดลี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลก.-814.-สำนักข่าวไทย

ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อสถานการณ์ในบังกลาเทศ

นิวยอร์ก 6 ส.ค.- สหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) และอีกหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในบังกลาเทศ ใช้ความอดทนอดกลั้น และให้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวตามแนวทางประชาธิปไตย รองโฆษกยูเอ็นกล่าวว่า นายอันโตนีโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็นรู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตผู้คนในเหตุประท้วงในบังกลาเทศที่เกิดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์ จึงเรียกร้องความสงบและการอดกลั้นจากทุกฝ่าย ขอให้กระบวนการส่งผ่านอำนาจ ดำเนินไปโดยสันติ สงบเรียบร้อยและเป็นประชาธิปไตย และขอให้กองกำลังฝ่ายความมั่นคงปกป้องกลุ่มผู้ประะท้วงทั้งในกรุงธากาและเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ ขณะที่นายแมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐแถลงว่า สหรัฐสนับสนุนการตั้งรัฐบาลชั่วคราวในบังกลาเทศ โดยขอให้ดำเนินการตามแนวทางประชาธิปไตยและครอบคลุมทุกฝ่าย หลังนายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ของบังกลาเทศ ลี้ภัยเหตุประท้วงรุนแรงไปอินเดีย ด้านกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีแถลงเน้นย้ำว่า บังกลาเทศต้องไม่ออกนอกเส้นทางประชาธิปไตย ท่ามกลางเหตุความไม่สงบในประเทศ เช่นดียวกับนายโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) เรียกร้องให้ยุติเหตุรุนแรงในบังกลาเทศ ขอให้ทุกฝ่ายรับประกันจะมีการส่งผ่านอำนาจสู่รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนางฮาซีนายังไม่แถลงใด ๆ แต่ได้เพิ่มการเฝ้าระวังตามแนวพรมแดนติดกับบังกลาเทศ หลังจากผู้บัญชาการกองทัพบกบังกลาเทศแถลงเมื่อวานนี้เรื่องจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีตนเองทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี.-810(814).-สำนักข่าวไทย

1 2 3 4 5 6 132
...