กลุ่มควอดเตรียมหารือประเด็นอิทธิพลจีน-โลกร้อน-โควิด

เมลเบิร์น 11 ก.พ. – รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคง 4 ฝ่าย หรือควอด (QUAD) ที่ประกอบด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐ จะประชุมร่วมกันที่นครเมลเบิร์นของออสเตรเลียในวันนี้ เพื่อหารือในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรับมือกับโรคโควิด-19 การขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียจากปัญหาวิกฤตการณ์ในยูเครน นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มควอดและนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลียว่า การเผชิญหน้ากับจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เขาคิดว่ากลุ่มควอดได้แบ่งปันข้อวิตกกังวลในช่วงไม่กี่ที่ผ่านมาร่วมกันเกี่ยวกับการที่จีนเริ่มแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นทั้งในประเทศของตนและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในขณะเดียวกัน นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลีย กล่าวก่อนเข้าร่วมการประชุมระดับทวิภาคีร่วมกับนายบลิงเคนว่า กลุ่มควอดจะหารือร่วมกันเกี่ยวกับความท้าทายของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ประเด็นเกี่ยวกับเกาหลีเหนือและจีน รวมถึงสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ทั้งนี้ ออสเตรเลียจะให้การสนับสนุนสหรัฐในการเป็นผู้นำเพื่อแก้ปัญหาท้าทายเหล่านี้.-สำนักข่าวไทย

ผู้นำออสเตรเลียยังไม่ตัดสินใจประชุม UN เรื่องสภาพอากาศ

นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ซึ่งถูกกดดันให้ยกระดับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเดินทางไปยังเมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในเดือนพฤศจิกายนหรือไม่

อินโดนีเซีย-ออสเตรเลีย ตกลงกระชับสัมพันธ์ความมั่นคง

จาการ์ตา 9 ก.ย. – อินโดนีเซียกับออสเตรเลียตกลงกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีที่จัดขึ้นในวันนี้ โดยทั้งสองประเทศได้หารือเกี่ยวกับการฝึกทหารร่วมกันในออสเตรเลียและการเข้าร่วมในสถาบันการป้องกันประเทศออสเตรเลีย นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลีย และนายปีเตอร์ ดัทตัน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ได้เดินทางเยือนกรุงจาการ์ตา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีออสเตรเลียเดินทางเยือนอินโดนีเซียนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย เผยว่า อินโดนีเซียได้ลงนามในข้อตกลงด้านการต่อต้านการก่อการร้าย การป้องกันประเทศ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงข้อตกลงสนับสนุนประเทศในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก ด้านนายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซีย ระบุว่า ทั้งสองประเทศได้หารือร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ที่รวมถึงความเป็นไปได้ในการฝึกทหารร่วมกันในออสเตรเลียและการเข้าเรียนในสถาบันออสเตรเลียของนักเรียนทหารอินโดนีเซียที่เขาระบุว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ รัฐมนตรีทั้งสองคนของอินโดนีเซียยังระบุว่า อินโดนีเซียได้หารือกับออสเตรเลียในประเด็นอื่น ๆ ที่รวมถึงการพัฒนาด้านการเมืองในอัฟกานิสถานและเมียนมา โดยที่ทั้งสองประเทศต่างให้การสนับสนุนภารกิจทางการทูตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในขณะเดียวกัน นางเพย์น กล่าวว่า ออสเตรเลียยินดีต้อนรับภูมิภาคที่สนับสนุนการแข่งขันตามกฎเกณฑ์และบรรทัดฐาน เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นการแข่งขันที่ดีมากกว่าเป็นการแข่งขันที่เสี่ยงต่อความไม่มั่นคงหรือความขัดแย้ง โดยที่ออสเตรเลียและอินโดนีเซียต่างยินดีที่จะร่วมมือกันตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว หลังจากนี้ นางเพย์นและนายดัทตันจะเดินทางเยือนชาติพันธมิตรอีกหลายประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ และสหรัฐ ทั้งนี้ การเดินทางดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่เกิดความวิตกกังวลครั้งใหม่ในทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่จีนประกาศให้มีการแจ้งจากเรือต่างประเทศก่อนเข้าสู่พื้นที่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่จีนอ้างสิทธิว่าเป็นของตนเอง.-สำนักข่าวไทย

ออสเตรเลียระงับความร่วมมือด้านความป้องกันกับเมียนมา

ซิดนีย์ 8 มี.ค. – ออสเตรเลียประกาศระงับโครงการความร่วมมือด้านการป้องกันกับเมียนมา และปรับเปลี่ยนวิธีช่วยเหลือชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในทันที ในขณะที่กองทัพเมียนมาใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารหนักขึ้น นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลียระบุในแถลงการณ์ว่า ออสเตรเลียจะให้ความสำคัญกับความจำเป็นด้านมนุษยธรรมและความจำเป็นใหม่ ๆ ที่เร่งด่วนที่สุด และจะหาทางสร้างความมั่นใจว่าการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะผ่านองค์กรนอกภาครัฐหรือเอ็นจีโอ ไม่ใช่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเมียนมา  ทั้งยังระบุว่า ออสเตรเลียขอเตือนให้กองกำลังรักษาความปลอดภัยของเมียนมายับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ส่วนโครงการความร่วมมือด้านการป้องกันระดับทวีภาคีของออสเตรเลียกับเมียนมาที่ถูกระงับนั้น ปกติแล้วเป็นโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ เช่น การสอนภาษาอังกฤษ ในขณะเดียวกัน ทางการออสเตรเลียจะยังคงเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวนายฌอน เทอร์เนลล์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลียและที่ปรึกษาของนางออง ซาน ซู จี ผู้นำประเทศที่ถูกยึดอำนาจ นายเทอร์เนลล์ถูกควบคุมตัวโดยถูกจำกัดการเข้าถึงด้านกงสุลตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ขณะที่ชาวออสเตรเลียหลายร้อยคนออกมารวมตัวกันในนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่สุดของออสเตรเลียในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร ทั้งนี้ เมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์วุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อเหตุยึดอำนาจการปกครองและควบคุมตัวผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่สหประชาชาติระบุว่ามีผู้ประท้วงชาวเมียนมาเสียชีวิตจากเหตุสลายชุมนุมกว่า 50 คนแล้ว. -สำนักข่าวไทย

...