ไฟไหม้โรงงานบังกลาเทศตายอย่างน้อย 52 คน
ความคืบหน้าของเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตอาหารฮาเชม ฟู้ดส์ ชานกรุงธากาของบังกลาเทศล่าสุดจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 52 คนแล้ว
ความคืบหน้าของเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตอาหารฮาเชม ฟู้ดส์ ชานกรุงธากาของบังกลาเทศล่าสุดจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 52 คนแล้ว
ระเบิดรุนแรงขึ้นในย่านม็อกห์บาซาร์ กรุงธากาของบังกลาเทศ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 คน บาดเจ็บราว 50 คน อาคารอย่างน้อย 7 หลังได้รับความเสียหาย คาดแก๊สรั่ว
กต.ระงับการออกซีโออีให้ชาวต่างชาติที่มาจากปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล ตั้งแต่วันนี้ แต่ไม่ได้ห้ามคนไทยเดินทางกลับประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขเตือนบังกลาเทศให้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ก่อนที่วัคซีนจะขาดแคลนและเริ่มพบไวรัสปรับปรุงสายพันธุ์เพิ่มขึ้น
มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่งหลังจากกลุ่มมุสลิมสายเคร่งในบังกลาเทศปะทะกับตำรวจเป็นวันที่สาม ระหว่างประท้วงนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี สายชาตินิยมฮินดูของอินเดียที่มาเยือนบังกลาเทศ
ไฟไหม้ใหญ่ค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ เสียชีวิตหลายสิบคน ที่พักซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระท่อมและเต็นท์ ถูกไฟเผาวอด ถือเป็นเหตุไฟไหม้ครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน ยังไม่ทราบสาเหตุ
ธากา 4 มี.ค. – รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียเดินทางถึงบังกลาเทศในวันนี้ และจะหารือแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 81 คนที่อินเดียช่วยชีวิตไว้ในขณะที่ลอยเรือเคว้งคว้างอยู่ในน่านน้ำระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ของอินเดียในกรุงนิวเดลีเผยว่า นายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินเดียจะเปิดการเจรจาร่วมกับบังกลาเทศในประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งปันน้ำ การค้า และประเด็นเรื่องพรมแดน ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศอินเดียระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียจะหารือเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอย่างแน่นอนในระหว่างที่เดินทางเยือนบังกลาเทศเป็นเวลา 1 วัน แต่วาระสำคัญจะเกี่ยวกับแผนการเยือนบังกลาเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย เนื่องในโอกาสครบรอบวันประกาศอิสรภาพบังกลาเทศครบ 50 ปีในเดือนนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว หน่วยยามฝั่งของอินเดียได้ช่วยชีวิตชาวโรฮิงญา 81 คนบนเรือที่ลอยอยู่กลางทะเลอันดามันมากว่า 2 สัปดาห์หลังเดินทางออกจากบังกลาเทศ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 1 ล้านคนที่หลบหนีมาจากเมียนมา ทั้งนี้ บนเรือยังมีชาวโรฮิงญาที่เสียชีวิต 8 คนเพราะเผชิญกับสภาพขาดน้ำอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี ชะตาชีวิตของชาวโรฮิงญากลุ่มดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากอินเดียยังไม่อนุญาตให้พวกเขาเข้าประเทศ และต้องการให้บังกลาเทศรับตัวพวกเขากลับไป ด้านนายอะบูลกาลาม อับดุล โมเมน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของบังกลาเทศกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า รัฐบาลบังกลาเทศต้องการให้อินเดีย ซึ่งมีพรมแดนใกล้กับจุดที่พบเรือของชาวโรฮิงญามากที่สุด หรือเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่พวกเขาหลบหนีออกมา เป็นผู้รับตัวชาวโรฮิงญาทั้ง 81 คนไว้.-สำนักข่าวไทย
โฆษกกระทรวงต่างประเทศอินเดียเปิดเผยว่า หน่วยยามฝั่งของอินเดียพบเรือของผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่อยู่กันอย่างแออัดมากง ลอยอยู่ในทะเลอันดามัน บนเรือมีชาวโรฮีนจาที่ยังมีชีวิต 81 คนและเสียชีวิต 8 คน
บังกลาเทศ 22 ก.พ. – สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) เรียกร้องให้เร่งช่วยเหลือกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาบนเรือที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเลอันดามันโดยปราศจากอาหารและน้ำดื่ม คาดว่ามีผู้อพยพหลายคนที่ล้มป่วยและทุกข์ทรมานจากภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ยูเอ็นเอชซีอาร์ออกแถลงการณ์ว่า เชื่อว่ามีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตไปแล้วจำนวนหนึ่ง และเสียชีวิตเพิ่มในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาบนเรือที่ออกเดินทางมาจากเขตคอกซ์บาซาร์ ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศเมื่อ 10 วันก่อน และประสบปัญหาเครื่องยนต์เสีย ยูเอ็นเอชซีอาร์ได้แจ้งไปยังทางการของรัฐที่เกี่ยวข้อง ขอให้ดำเนินการช่วยเหลือทันทีเพื่อช่วยชีวิตและป้องกันการเกิดโศกนาฏกรรม เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับตำแหน่งของเรือดังกล่าว และพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลต่าง ๆ ด้วยการจัดสรรความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการกักตัวแก่ชาวโรฮิงญาที่ได้รับการช่วยชีวิต ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ยามฝั่งของอินเดียกล่าวกับรอยเตอร์ว่า หน่วยของเขาพบเรือลำดังกล่าวในพื้นที่นอกชายฝั่งทะเลอันดามันและบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย เรือมีสภาพปลอดภัยดี แต่ไม่มีใครรู้ว่าชาวโรฮิงญาบนเรือตกอยู่ในสภาพเช่นใด ขณะที่เจ้าหน้าที่ของบังกลาเทศระบุว่า พวกเขาไม่ทราบเรื่องว่ามีเรือล่องออกจากค่ายผู้อพยพชาวโรฮิงญา หากทราบต้องยับยั้งแน่นอน. -สำนักข่าวไทย
ธากา 28 ม.ค.- คณะกรรมการคริกเกตบังกลาเทศแจ้งว่า จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ให้แก่นักคริกเกตจำนวนมากภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้สามารถเริ่มการแข่งขันคริกเกตในประเทศได้อีกครั้ง บังกลาเทศระงับการแข่งคริกเกตทั้งหมดมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ยกเว้นการแข่งขันโปรแกรมเล็ก ๆ 2 ครั้งเมื่อปีก่อน และการแข่งของทีมเวสต์อินดีส์ในขณะนี้ที่จัดในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยอย่างเคร่งครัด คณะกรรมการคริกเกตประกาศว่า จะไม่อนุญาตให้จัดการแข่งขันคริกเกตในทุกระดับอย่างเด็ดขาด จนกว่านักคริกเกตจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่นักคริกเกตชั้นนำก่อน 500 คนเป็นกลุ่มแรก แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะได้วัคซีนมาอย่างไร เอเอฟพีอธิบายเพิ่มเติมว่า ประธานคณะกรรมการคริกเกตเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเบ็กซิมโก ฟาร์มาซูติคัลส์ที่ลงนามข้อตกลงซื้อวัคซีนจากอินเดียจำนวน 30 ล้านโดสให้แก่รัฐบาลบังกลาเทศ บริษัทนี้ยังจะซื้อวัคซีนเพื่อนำมาจำหน่ายเองด้วย บังกลาเทศได้รับวัคซีนจากอินเดีย 2 ล้านโดสแล้วในสัปดาห์นี้ ประเดิมการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับคนกลุ่มแรก 27 คนเมื่อวานนี้ มีแพทย์พยาบาลรวมอยู่ด้วย ทางการเผยว่า จะเริ่มการฉีดวัคซีนในวงกว้างตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ บังกลาเทศมียอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมกว่า 533,000 คน เสียชีวิตกว่า 8,000 คน.-สำนักข่าวไทย
ธากา 24 ม.ค.- บังกลาเทศจะซื้อข้าว 100,000 ตัน จากเมียนมา เพราะต้องเร่งแข่งกับเวลาแก้ไขวิกฤติขาดแคลนข้าวที่เป็นอาหารหลักของประชากรกว่า 160 ล้านคน ปลัดกระทรวงอาหารของบังกลาเทศแถลงวันนี้ว่า บังกลาเทศจะนำเข้าข้าวขาวจากเมียนมาตามข้อตกลงแบบรัฐบาลกับรัฐบาล ในราคาตันละ 485 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14,550 บาท) ครอบคลุมราคา ค่าประกัน และค่าขนส่ง จุดประสงค์หลักคือ ต้องการทำให้ราคาข้าวถูกลง โดยจะมีการลงนามโดยเร็ว และทยอยส่งมาภายในเดือนเมษายน ปลัดกระทรวงเสริมด้วยว่า รัฐบาลอาจสั่งซื้อข้าวมากถึง 10 ล้านตัน ขณะที่ผู้ค้าเอกชนได้รับอนุญาตให้ซื้ออีก 10 ล้านตัน ในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้จะซื้อข้าว 150,000 ตัน จากองค์กรของทางการอินเดียตามข้อตกลงแบบรัฐบาลกับรัฐบาล และกำลังเจรจากับอีกหลายหน่วยงานของทางการอินเดีย ปกติแล้วบังกลาเทศผลิตข้าวได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เฉลี่ยปีละ 35 ล้านตัน เกือบทั้งหมดเป็นการบริโภคในประเทศ หลายครั้งต้องนำเข้าเพราะเกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม ปีที่แล้วเกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาข้าวปรับขึ้นไปทำสถิติสูงสุด.-สำนักข่าวไทย
ค็อกซ์บาซาร์ 19 ม.ค.- เกิดเหตุไฟไหม้โรงเรียน 4 แห่งที่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟตั้งขึ้นเพื่อเด็กชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ ยูนิเซฟระบุว่า เป็นการวางเพลิง กรรมาธิการผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศเผยกับสื่อว่า ทางการกำลังสอบสวนเหตุไฟไหม้ล่าสุด เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากการจงใจ และวัสดุที่ใช้ก่อสร้างโรงเรียนก็เป็นวัสดุติดไฟง่าย เพราะไม่ได้สร้างขึ้นเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวร เหตุเกิดในช่วงที่โรงเรียนปลอดคน ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นมือของใครหรือกลุ่มใด หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งเกิดไฟไหม้กระท่อมไม้ไผ่หลายร้อยหลังในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่ง ทำให้ชาวโรฮิงญาที่อพยพมาจากเมียนมาไร้ที่อยู่จำนวนมาก สันนิษฐานว่าต้นเพลิงมาจากเตาแก๊ส ด้านยูนิเซฟทวีตแย้งว่า เหตุไฟไหม้โรงเรียนเป็นการวางเพลิง ยูนิเซฟกำลังประสานกับผู้เกี่ยวข้องประเมินความเสียหาย และเร่งซ่อมแซมศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ขึ้นใหม่ ยูนิเซฟตั้งศูนย์การเรียนรู้ 2,500 แห่งในค่ายผู้ลี้ภัย 34 แห่งในเขตค็อกซ์บาซาร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ มีเด็กชาวโรฮิงญาเข้าเรียนประมาณ 240,000 คน แต่ปิดไปหลายเดือนเพราะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระบาด เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์คาดว่า จะเปิดได้อีกครั้งในเดือนหน้า.-สำนักข่าวไทย