จีนถอดรหัส “ซีกไผ่” เก่า 2,000 ปี บันทึกความรู้การแพทย์โบราณ
เฉิงตู, 23 เม.ย. (ซินหัว) — มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รายงานว่าคณะนักวิจัยของจีนได้เผยแพร่เนื้อหาการแพทย์ดั้งเดิมที่หายสาบสูญไปเป็นเวลานาน ซึ่งเชื่อว่าเขียนโดยเปี่ยนเช่ว์ ผู้บุกเบิกการแพทย์ยุคจีนโบราณ โดยถอดรหัสจากซีกไผ่ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ซีกไผ่จากราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ปี 25) ถูกขุดพบจากกลุ่มหลุมศพในตำบลเทียนหุย นครเฉิงตู เมืองเอกของซื่อชวน เมื่อปี 2012 โดยการศึกษาเพิ่มเติมชี้ว่าซีกไผ่ดังกล่าวบันทึกวรรณกรรมทางการแพทย์อันล้ำค่าของโรงเรียนที่เปี่ยนเช่ว์เคยเป็นลูกศิษย์ ช่วงยุควสันตสารทหรือยุคชุนชิว และยุครณรัฐหรือยุคจ้านกั๋ว (770-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เปี่ยนเช่ว์ได้หยิบยกประสบการณ์และองค์ความรู้จากบรรพบุรุษ และนำเสนอวิธีวินิจฉัย 4 วิธี ได้แก่ ตรวจสอบ ฟัง-ดมกลิ่น สอบถาม และกดคลำ ซึ่งวางรากฐานสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาของแพทย์แผนจีน (TCM) ซีกไผ่ดังกล่าวเสียหายและอ่อนตัวเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวเนื่องจากจมน้ำอยู่นานกว่า 2,000 ปี ส่งผลให้การฟื้นฟูและวิจัยยากลำบากขึ้นหลายเท่า ทว่าท้ายที่สุดคณะนักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนจีน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญการปกป้องและบูรณะโบราณวัตถุ สามารถบูรณะซีกไผ่ 930 แผ่น ที่มีตัวอักษรจีนอยู่กว่า 20,000 ตัว หลังจากทุ่มเทความพยายามนานนับสิบปี อนึ่ง มีการคาดการณ์ว่าซีกไผ่ข้างต้นเป็นชุดเอกสารการแพทย์โบราณที่มอบรายละเอียดเนื้อหาครบครันที่สุด […]