แพทย์อินเดียผละงานประท้วงหวั่นแพทย์ไม่พอรับมือโอไมครอน

นิวเดลี 3 ธ.ค. – อินเดียรายงานวันนี้ว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ 9,216 คน หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 2 คนแรกเมื่อวันพฤหัสบดี ขณะที่กลุ่มแพทย์ประจำบ้านของอินเดียนัดผละงานที่ไม่จำเป็นเพื่อชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นทะเบียนนักศึกษาแพทย์จบใหม่ปีล่าสุดลงเป็นแพทย์ประจำบ้านเพื่อเพิ่มกำลังคนและแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ข่าวการพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 2 คนในรัฐกรณาฏกะ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อ 1 คนที่ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอกที่สาม ขณะที่นักระบาดวิทยาบางส่วนของอินเดียระบุว่า การระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในอินเดียอาจมีความรุนแรงน้อยกว่าการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา เนื่องจากชาวอินเดียมีภูมิคุ้มกันจากการระบาดครั้งก่อนและได้รับการฉีดวัคซีนโควิดเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน สมาคมแพทย์ประจำบ้านแห่งอินเดีย ซึ่งเป็นตัวแทนของโรงพยาบาลรัฐหลายสิบแห่ง ระบุในจดหมายที่ส่งถึงกระทรวงสาธารณสุขว่า โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศกำลังขาดแคลนแพทย์ประจำบ้าน เนื่องจากไม่มีการเปิดรับสมัครแพทย์ประจำบ้านในปีนี้ หากอินเดียต้องเผชิญกับการระบาดรุนแรงของโรคโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต สถานการณ์ของระบบสาธารณสุขก็จะตกอยู่ในอันตราย ส่วนกลุ่มแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลีได้ผละงานมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ประจำบ้านในปีนี้ และตะโกนโดยพร้อมเพรียงกันว่า ‘พวกเราต้องการความยุติธรรม’ พร้อมถือป้ายที่มีข้อความว่า ‘พวกเราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์’ (We are human, not robot) ขณะนี้ อินเดียมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมราว 34.6 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 470,000 คน.-สำนักข่าวไทย

แพทย์อินเดียเตือนใช้มูลวัวรักษาโควิดเสี่ยงติดโรคเพิ่ม

อาห์เมดาบัด 11 พ.ค. – แพทย์อินเดียออกโรงเตือนผู้ที่เชื่อว่ามูลวัวรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้ โดยระบุว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพดังกล่าว และเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคอื่น ผู้นับถือศาสนาฮินดูในรัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย ต่างพากันเดินทางไปยังคอกวัวสัปดาห์ละครั้ง เพื่อนำมูลและปัสสาวะของวัวมาทาตัว โดยเชื่อว่ามูลวัวจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือรักษาอาการป่วยจากโรคโควิด เนื่องจากศาสนาฮินดูถือว่าวัวเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและโลก โดยจะรอให้มูลและปัสสาวะของวัวที่ทาบนร่างกายแห้ง จึงจะเข้าไปกอดหรือแสดงความเคารพต่อวัวในคอก รวมถึงฝึกโยคะเพื่อเพิ่มระดับพลังงานในร่างกาย หลังจากนั้น พวกเขาจะชำระล้างร่างกายด้วยนมวัว ทั้งนี้ ชาวฮินดูใช้มูลวัวมาทำความสะอาดบ้านเรือนและประกอบพิธีสวดมนต์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเชื่อว่ามูลวัวมีคุณสมบัติในการรักษาโรคและฆ่าเชื้อโรคได้ อย่างไรก็ดี แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในอินเดียและหลายประเทศทั่วโลกได้ย้ำเตือนถึงทางเลือกในการรักษาโรคโควิด-19 ดังกล่าวว่า อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดด้านความปลอดภัยและทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ประธานสมาคมแพทย์อินเดียระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมที่ยืนยันว่ามูลหรือปัสสาวะของวัวช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 แต่เป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น นอกจากนี้ การทาและบริโภคมูลหรือปัสสาวะของวัวยังทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ และทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคอื่น ๆ จากสัตว์มาสู่คนอีกด้วย. -สำนักข่าวไทย

...