อาห์เมดาบัด 11 พ.ค. – แพทย์อินเดียออกโรงเตือนผู้ที่เชื่อว่ามูลวัวรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้ โดยระบุว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพดังกล่าว และเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคอื่น
ผู้นับถือศาสนาฮินดูในรัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย ต่างพากันเดินทางไปยังคอกวัวสัปดาห์ละครั้ง เพื่อนำมูลและปัสสาวะของวัวมาทาตัว โดยเชื่อว่ามูลวัวจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือรักษาอาการป่วยจากโรคโควิด เนื่องจากศาสนาฮินดูถือว่าวัวเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและโลก โดยจะรอให้มูลและปัสสาวะของวัวที่ทาบนร่างกายแห้ง จึงจะเข้าไปกอดหรือแสดงความเคารพต่อวัวในคอก รวมถึงฝึกโยคะเพื่อเพิ่มระดับพลังงานในร่างกาย หลังจากนั้น พวกเขาจะชำระล้างร่างกายด้วยนมวัว ทั้งนี้ ชาวฮินดูใช้มูลวัวมาทำความสะอาดบ้านเรือนและประกอบพิธีสวดมนต์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเชื่อว่ามูลวัวมีคุณสมบัติในการรักษาโรคและฆ่าเชื้อโรคได้
อย่างไรก็ดี แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในอินเดียและหลายประเทศทั่วโลกได้ย้ำเตือนถึงทางเลือกในการรักษาโรคโควิด-19 ดังกล่าวว่า อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดด้านความปลอดภัยและทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ประธานสมาคมแพทย์อินเดียระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมที่ยืนยันว่ามูลหรือปัสสาวะของวัวช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 แต่เป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น นอกจากนี้ การทาและบริโภคมูลหรือปัสสาวะของวัวยังทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ และทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคอื่น ๆ จากสัตว์มาสู่คนอีกด้วย. -สำนักข่าวไทย