ไทเป 3 พ.ค.- หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในไต้หวันเมื่อเดือนเมษายน ชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยหันมาโหลดแอปพลิเคชันแจ้งเตือนการแผ่นดินไหวของเอกชนกันมากขึ้น แพลตฟอร์มข้อมูลป้องกันภัยพิบัติหรือดีพีไอพี (DPIP) เป็นแอปฯ เอกชน เกิดจากการร่วมกันพัฒนาของนักศึกษา 2 คนวัย 17 ปี และ 20 ปี ที่ร่วมกันคิดค้นแอปฯ นี้เมื่อปี 2565 ก่อนหน้านี้มีผู้ดาวน์โหลดไปใช้งานประมาณ 3,000 รายเท่านั้น แต่หลังจากที่ไต้หวันเผชิญกับแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.2 เมื่อวันที่ 3 เมษายน มีผู้เสียชีวิต 17 คน ยอดการดาวน์โหลดแอปฯ พุ่งขึ้นไปถึง 370,000 รายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ปัจจุบันรัฐบาลไต้หวันมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวอัตโนมัติ เป็นการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือร่วมกับเสียงสัญญาณเตือนภัย ซึ่งจะแจ้งเตือนขึ้นก่อนเกิดแผ่นดินไหวไม่กี่วินาที แต่แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 3 เมษายน ปรากฏว่าเสียงสัญญาณเตือนแผ่นดินไหวในกรุงไทเปไม่ดัง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพในระบบเตือนภัยของรัฐ ส่วนแอปฯ ของเอกชนนั้น ทีมงานได้ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ไว้มากกว่า 130 จุดทั่วเกาะไต้หวันเพื่อตรวจจับการสั่นสะเทือนทั่วเกาะและสามารถแจ้งเตือนผู้ใช้งานล่วงหน้าได้ถึง 30 วินาทีก่อนเกิดแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังมีฟังค์ชั่นพิเศษนอกเหนือไปจากระบบของทางการ เช่น การเปิดไฟแฟลชอัตโนมัติก่อนเกิดแผ่นดินไหว การนับเวลาถอยหลัง หรือการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวขนาดเล็กซึ่งไม่มีอยู่ในระบบเตือนภัยของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ชาวไต้บางส่วนมีความเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้แอปฯ แจ้งเตือน ตราบใดที่แอปฯ ยังไม่สามารถเพิ่มการป้องกันความเสียหายได้มากกว่าที่เป็นอยู่.-816(814).-สำนักข่าวไทย