เตือนวันนี้ซิดนีย์ของออสเตรเลียร้อนที่สุดในรอบ 3 ปี
นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี ของออสเตรเลีย เตือนประชาชนดูแลตัวเองให้ปลอดภัย เนื่องจากคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมทางฝั่งตะวันออกของประเทศได้ทำให้อุณหภูมิในวันนี้ของนครซิดนีย์สูงที่สุดในรอบ 3 ปี
นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี ของออสเตรเลีย เตือนประชาชนดูแลตัวเองให้ปลอดภัย เนื่องจากคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมทางฝั่งตะวันออกของประเทศได้ทำให้อุณหภูมิในวันนี้ของนครซิดนีย์สูงที่สุดในรอบ 3 ปี
หลายพื้นที่ในภูมิภาคไซบีเรียของรัสเซียมีอุณหภูมิลดลงติดลบ 50 องศาเซลเซียส ขณะที่กรุงมอสโกเผชิญพายุหิมะพัดปกคลุมทั่วจนมีหิมะตกหนักเป็นประวัติการณ์ และกระทบต่อการสัญจรทางอากาศ
กรมอุตุฯ เผยประเทศไทยตอนบนมีฝนตกบางแห่งกับลมแรง เตือนอากาศเปลี่ยน “เหนือ-อีสาน” อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย
ปักกิ่ง 23 พ.ย. – ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีนประกาศเตือนภัยสภาพอากาศจากคลื่นความเย็นในระดับสีเหลือง โดยคาดการณ์ว่า หลายพื้นที่ของประเทศจะมีอุณหภูมิลดลงและลมแรงในช่วงหลายวันข้างหน้า สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างศูนย์อุตุนิยมแห่งชาติว่า หลายพื้นที่ของจีน เช่น กานซู่ หนิงเซี่ย ส่านซี มองโกเลียใน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอุณหภูมิลดลง 6-10 องศาเซลเซียส ระหว่างเวลา 08.00 น. วันนี้จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน ขณะที่หลายพื้นที่ของเฮยหลงเจียงและเหลียวหนิงอาจมีอุณหภูมิลดลงกว่า 18 องศาเซลเซียสในช่วงเวลาข้างต้น ส่วนบางพื้นที่ของมองโกเลียในและเฮยหลงเจียงอาจมีอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า -30 องศาเซลเซียสในช่วงเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน ศูนย์อุตุนิยมแห่งชาติยังประกาศเตือนภัยสภาพอากาศจากลมแรงในระดับสีน้ำเงิน ในช่วงเช้าวันนี้ โดยหลายภูมิภาคอาจเผชิญลมแรงและลมพายุ ขณะน่านน้ำนอกชายฝั่งตะวันออกและตอนใต้อาจจะเผชิญลมพัดแรงจัด จึงขอแนะนำสาธารณชนให้รักษาความอบอุ่นของร่างกาย และดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองปศุสัตว์และพืชผล ทั้งนี้ระบบเตือนภัยสภาพอากาศจากคลื่นความเย็นและลมแรงของจีนแบ่งเป็น 4 ระดับสี่ สีแดงหมายถึงความรุนแรงสูงสุด ตามด้วยสีส้ม สีเหลือง และสีน้ำเงินตามลำดับ.-สำนักข่าวไทย
ปารีส 5 ต.ค.- อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 สูงกว่าช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.4 องศาเซลเซียส ใกล้แตะขีดจำกัดที่นานาชาติกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โคเปอร์นิคัส ไคลเมต เชนจ์ เซอร์วิซ (C3S) ซี่งเป็นองค์กรติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานวันนี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายน 2566 สูงขึ้น 1.4 องศาเซลเซียสจากช่วงปี 2392-2443 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเกือบถึงระดับที่กำหนดไว้ใน “ความตกลงปารีส 2561 ” ไม่ให้สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่จำเป็นต่อการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลหายนะที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์เอลนีโญที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้มีอุณหภูมิสูงขึ้นและทำให้อากาศร้อนขึ้นมีแนวโน้มจะทำให้ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์คาดว่า โลกจะรู้สึกได้ถึงผลร้ายแรงที่สุดของเอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ในช่วงสิ้นปี 2566 ไปจนถึงปี 2567 นักวิทยาศาสต์ของยุโรปและญี่ปุ่นเพิ่งรายงานว่า เดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นเดือนกันยายนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดมากกว่าทุกเดือนเท่าที่ได้บันทึกมา ส่งผลให้สภาพอากาศเอื้อต่อการเกิดภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความร้อน ไฟป่า และน้ำท่วมรุนแรง.-สำนักข่าวไทย
เมลเบิร์น 1 ต.ค.- ไฟป่าหลายจุดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ในรัฐวิกตอเรีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ทำให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวต้องอพยพออกจากเมือง ขณะที่รัฐทางฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียกำลังเผชิญกับอากาศร้อนจัด ผู้อาศัยใน 4 เมืองของกิปป์สแลนด์ พื้นที่ชนบทซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติและไร่องุ่นยอดนิยมในรัฐวิกตอเรีย ได้รับแจ้งให้อพยพออกจากพื้นที่โดยทันที ส่วนผู้อาศัยในอีก 3 เมืองและพื้นที่โดยรอบได้รับคำเตือนให้เตรียมพร้อมอพยพ ส่วนที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ถัดขึ้นไปจากรัฐวิกตอเรีย อุณหภูมิวันนี้แตะ 35.5 องศาเซลเซียส เป็นวันที่ 1 ตุลาคมที่ร้อนที่สุดนับจากปี 2562 ส่วนวันที่ 1 ตุลาคมที่ทำสถิติร้อนที่สุดคือปี 2547 อุณหภูมิแตะ 38.2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิในเดือนตุลาคมของออสเตรเลียมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงสิ้นเดือน เนื่องจากช่วงกลางวันจะยาวนานขึ้นและใกล้เข้าสู่ฤดูร้อนที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์.-สำนักข่าวไทย
ปารีส 6 ก.ย.- หน่วยงานสังเกตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปหรืออียู คาดว่า ปี 2566 น่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สำนักงานบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสออกรายงานในวันนี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในเดือนมิถุนายน กรกฎาคมและสิงหาคมอยู่ที่ 16.77 องศาเซลเซียส ลบสถิติปี 2562 ที่ 16.48 องศาเซลเซียส อุณหภูมิของ 3 เดือนที่ผ่านมาจึงร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี หรือเท่ากับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นอกจากนี้เดือนสิงหาคม 2566 ยังเป็นเดือนสิงหาคมที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา รายงานระบุว่า ฤดูร้อนปีนี้ของซีกโลกเหนือเป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุด เพราะอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเลโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดคลื่นความร้อนทางทะเลทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะที่คลื่นความร้อน ภัยแล้งและไฟป่าที่เกิดขึ้นทั่วเอเชีย แอฟริกา ยุโรปและอเมริกาเหนือในช่วง 3 เดือนมานี้ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ และสุขภาพ ดังนั้นหากพิจารณาจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้น ปี 2566 ทั้งปีจึงน่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก.-สำนักข่าวไทย
สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นแจ้งว่า ฤดูร้อนปีนี้เป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดของญี่ปุ่น นับตั้งแต่เริ่มการจดบันทึกในปี 2441
เซาเปาลู 24 ส.ค.- บราซิลกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนในขณะที่ยังอยู่ในช่วงกลางฤดูหนาว อุณหภูมิในนครเซา เปาลู เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศใกล้ทำลายสถิติสูงสุดของเดือนสิงหาคมและของปี 2566 สถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของบราซิลแจ้งว่า นครเซา เปาลูที่มีประชากร 11 ล้าน 5 แสนคน มากที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา มีอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 10 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนสิงหาคม โดยขึ้นไปแตะ 32.3 องศาเซลเซียสเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น ใกล้แตะสถิติ 32.5 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 16 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของบราซิล และใกล้แตะสถิติอุณหภูมิสูงสุดของเดือนสิงหาคมที่ 33.1 องศาเซลเซียส ซึ่งวัดได้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2495 และ 2498 สถาบันฯ เตือนว่า อุณหภูมิในวันนี้อาจสูงทำลายสถิติของเดือนสิงหาคมและของปี 2566 ทางการรัฐเซา เปาลูที่มีนครเซา เปาลูเป็นเมืองเอกได้ประกาศรายชื่อพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่องไฟป่า และเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และดูแลตนเองไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำจากอากาศที่แล้งและความชื้นต่ำ ขณะนี้ซีกโลกใต้กำลังเป็นฤดูหนาว ตรงข้ามกับยุโรปที่กำลังเป็นฤดูร้อน ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า บราซิลมีอากาศร้อนผิดปกติในเดือนนี้เพราะมวลอากาศร้อนและแล้งขนาดใหญ่แผ่ปกคลุมทั่วประเทศ อันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญผสมกับภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมของคน ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อากาศที่ร้อนขึ้นในหลายประเทศแม้แต่ในฤดูหนาวของซีกโลกใต้อาจกลายเป็นปรากฏการณ์ถาวรทั่วโลก เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ผู้คนยังคงละเลยสัญญาณเตือนเหล่านี้.-สำนักข่าวไทย
โซล 2 ส.ค.- เกาหลีใต้แจ้งวันนี้ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนในฤดูร้อนปีนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 23 คนแล้ว มากกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงแจ้งว่า วันที่ 20 พฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม มีคนเสียชีวิตจากโรคที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับความร้อนทั้งหมด 21 คน ส่วนวันที่ 1 สิงหาคมวันเดียวมีคนเสียชีวิต 2 คน รวมทั้งหมด 23 คนแล้วจนถึงขณะนี้ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 3 เท่า ผู้เสียชีวิต 2 รายล่าสุดเป็นชายวัย 70 ปีเศษและ 80 ปีเศษที่ทำงานกลางแจ้ง ส่วนที่เซมันกึม จังหวัดชอลลาเหนือ ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ที่กำลังจัดงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 25 มีผู้ป่วยเพราะโรคเกี่ยวกับความร้อนประมาณ 400 คน งานนี้มีลูกเสือ 43,000 คนจาก 158 ประเทศรวมทั้งไทยเข้าร่วม รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ยกระดับเตือนภัยความร้อนเป็น “ร้ายแรง” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจากทั้งหมด […]
เตหะราน 2 ส.ค.- อิหร่านประกาศวันหยุดราชการ 2 วัน เนื่องจากอากาศร้อนจัดทั่วประเทศ สำนักข่าวอีร์นา (IRNA) ของทางการอิหร่านรายงานอ้างโฆษกรัฐบาลว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องประกาศให้วันพุธและวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่นเป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศเพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน อีร์นาระบุว่า คณะรัฐมนตรีตัดสินใจดังกล่าวเนื่องจากอิหร่านเผชิญกับคลื่นความร้อนทั่วประเทศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชาชนราว 1,000 คนเข้าโรงพยาบาลในช่วงหลายวันมานี้ เพราะอากาศที่ร้อนขึ้นและพายุทราย สำนักอุตุนิยมวิทยาของอิหร่านพยากรณ์ว่า หลายเมืองจะมีอุณหภูมิจะสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และภาคตะวันตกเฉียงเหนือจะมีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส สถานีโทรทัศน์ไออาร์ไอบี (IRIB) ของทางการรายงานเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า เมืองเดห์โลรานมีอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส สูงที่สุดในประเทศในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเตือนเรื่องโรคลมแดดที่เกิดจากการถูกแดดมากเกินไป ขอให้ประชาชนอยู่แต่ในอาคารในช่วงเวลา 10:00-16:00 น. และว่าช่วงหลายวันมานี้มีผู้ป่วยโรคลมแดดจำนวนมากอย่างน่าตกใจ เดือนมิถุนายนปีนี้อิหร่านเคยปรับเวลาราชการช่วงฤดูร้อนให้เร็วขึ้น เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่อากาศร้อนจัด อิหร่านมีประชากรมากกว่า 85 ล้านคน และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเปราะบางมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเผชิญภาวะแล้งจัดและคลื่นความร้อนมาหลายปี อีกทั้งยังเกิดภัยแล้งซ้ำซากและน้ำท่วมเป็นประจำ.-สำนักข่าวไทย
โรม 17 ก.ค.- หลายประเทศในซีกโลกเหนือกำลังเผชิญกับอากาศร้อนจัดที่เสี่ยงจะทำลายสถิติ และทำให้ไฟป่ารุนแรงขึ้น เนื่องจากผลจากภาวะโลกร้อนเริ่มปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น สำนักงานอวกาศยุโรปแจ้งว่า ยุโรปอาจมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์นี้ เพราะพยากรณ์ว่าเกาะซิซิลีและเกาะซาร์ดิเนียของอิตาลีจะมีอุณหภูมิสูงถึง 48 องศาเซลเซียส นักบวชคนหนึ่งเผยที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรมว่า อากาศร้อนกว่าบ้านเกิดของเขาในสาธารณรัฐประชาธิปไตคองโกที่อยู่ทางตอนกลางของทวีปแอฟริกาเสียอีก คาดว่าอุณหภูมิในกรุงโรมจะแตะ 40 องศาเซลเซียสในวันนี้ และจะแตะ 42-43 องศาเซลเซียสในวันอังคาร ลบสถิติ 40.5 องศาเซลเซียสเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ส่วนที่ญี่ปุ่น ทางการต้องแจ้งเตือนประชาชนใน 20 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัดให้ระวังฮีตสโตรกหรือโรคลมแดด กรุงโตเกียวและหลายพื้นที่มีอุณหถูมิใกล้แตะ 40 องศาเซลเซียส และอาจลบสถิติ 41.8 องศาเซลเซียสที่เคยวัดได้ที่เมืองคุมากายะ จังหวัดไซตามะเมื่อปี 2561 ด้านสำนักอุตุนิยมวิทยาสหรัฐแจ้งเตือนว่า คลื่นความร้อนกินวงกว้างในรัฐทางใต้และทางตะวันตกจะถึงจุดสูงสุด กระทบต่อประชาชนมากกว่า 80 ล้านคน หุบเขามรณะ (Death Valley) ในรัฐแคลิฟอร์เนียร้อนใกล้แตะสถิติ 52 องศาเซลเซียสเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ ขณะที่พื้นที่ทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียกำลังเกิดไฟป่าหลายจุด.-สำนักข่าวไทย