ชัวร์ก่อนแชร์ : พบสุนัขติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตัวแรกในไทย ถ่ายทอดจากคนสู่สัตว์

6 พฤษภาคม 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์, ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น


ทำไมสุนัขถึงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากคนได้ แล้วการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จาก “สัตว์สู่คน” สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ เรามีวิธีการรับมืออย่างไรเมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยเป็นโควิด-19 ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันกับ “ชัวร์ก่อนแชร์”  

บทสรุป : จริง แชร์ต่อได้ และควรอธิบายเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกจากความเข้าใจผิด
·       ผู้เชี่ยวชาญยืนยันสุนัขติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้เลี้ยงจริง
·       เป็นสุนัขตัวแรกในไทยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจสารพันธุกรรม
·       โควิด-19 สามารถแพร่เชื้อจาก “คนไปสู่สัตว์” ได้ แต่ไม่ควรตื่นตระหนกเพราะโอกาสการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงนั้น มีไม่มาก
·       สำหรับการแพร่เชื้อโควิด-19 จาก “สัตว์ไปสู่คน” ขณะนี้ยังพบหลักฐานยืนยันเฉพาะในกรณีตัวมิงค์เท่านั้น 


สืบหาต้นตอ

สืบเนื่องมาจากประชาชนได้ส่งข้อมูลเข้ามาสอบถามกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” ว่า บนโซเซียลมีเดียมีการแชร์ข้อมูลพบสุนัขติดเชื้อโควิด-19 และสอบถามว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ จากนั้น “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” ได้สืบหาต้นตอและพบว่าเป็นการแชร์ข้อมูลจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมคลิปวิดีโอขณะสุนัขนอนรักษาตัวอยู่ในกรง และข้อความระบุว่า “….จะทำยังไงดีค่ะปั้นเพิ่งตัดขามา หมอเห็นว่าเราติดโควิด ก็เลยขอทำงานวิจัยโควิดในสัตว์เลี้ยง ตอนนี้ปั้นติดโควิด แต่ไม่มีที่ไหนรับเคสปั้นเลย…” โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก และมีการแชร์ข้อมูลจำนวน 2 ครั้ง (ณ วันที่ 5 พ.ค. 64) 

ภาพต้นตอ

Fact Check : ตรวจสอบข้อเท็จจริง


4 พ.ค. พบสุนัขติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตัวแรก ถ่ายทอดจากคนสู่สัตว์

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประชาชนได้ส่งข้อมูลเข้ามาสอบถามกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” กรณีพบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์คลิปวิดีโอสุนัขพันธุ์ไทยสีขาวดำขณะนอนรักษาตัวอยู่ในกรง พร้อมข้อความระบุว่า สุนัขของเขาได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากเขาแล้วศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กับ ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการยืนยันว่า “เป็นเรื่องจริง”

ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. มีผู้พาสุนัขมาผ่าตัดขาเนื่องจากเป็นมะเร็ง หลังการผ่าตัดเพื่อนบ้านเจ้าของสุนัขได้แจ้งให้แพทย์ทราบว่าเจ้าของสุนัขติดเชื้อโควิด-19 โดยแพทย์ได้สอบสวนโรคเพิ่มและทราบว่าเจ้าของมาที่คณะฯ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ซึ่งทางคณะฯ ได้ตามแนวปฏิบัติของกรมควบคุมโรค โดยบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ทำการตรวจและไม่พบอะไร

เมื่อทราบว่าเจ้าของสุนัขติดโควิด-19 หลังจากการผ่าตัดสุนัขในวันที่ 29 เม.ย. ทีมงานของศูนย์โรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตรวจโควิด-19 กับสุนัขดังกล่าว ด้วยการป้าย Swap จากก้น ปาก ไม่พบว่าสุนัขมีการติดเชื้อ

จากนั้นในวันที่ 3 พ.ค. ทางทีมงานได้เก็บตัวอย่างเพิ่มเติม ซึ่งพบปริมาณไวรัสที่ยังไม่มาก และได้เก็บตัวอย่างเพิ่มเติมในวันที่ 4 พ.ค. จากการป้ายจมูกพบว่ามีปริมาณไวรัสที่สูงและเป็นผลบวก จึงได้แจ้งให้ทางเจ้าของและโรงพยาบาลเอกชนที่ทำการรักษาต่อทราบว่า สุนัขติดเชื้อโควิด-19 

ส่งตัวสุนัขเข้า “Isolation Area” จ.นครปฐม เพื่อติดตามโรคและรักษาตามอาการ

เช้าวันนี้ (6 พ.ค.) ได้ส่งสุนัขตัวดังกล่าวเข้ารับการรักษาและดูแลต่อที่ ศูนย์ฝึกนิสิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีโซนห้องกักโรค อยู่ใน Isolation Area เพื่อติดตามโรค และรักษาตามอาการ ซึ่งจะต้องดูแลว่าหลังจากนี้ปริมาณของไวรัสจะลดลงเรื่อย ๆ หรือไม่

คาด สุนัข “ข้าวปั้น” รับเชื้อจากการป้อนอาหารหรือทานอาหารที่เหลือจากเจ้าของ

กรณีศึกษาที่สำคัญจากสุนัข “ข้าวปั้น” ตัวนี้ คาดว่าจะติดเชื้อจากการกิน ซึ่งเป็นการคาดคะเนจากที่ได้ซักประวัติ พบว่า เจ้าของมีการป้อนอาหาร มีการเป่าอาหารให้ก่อน หรือทานอาหารที่เหลือจากเจ้าของ ถือว่าเป็นการสัมผัสโดยตรง 

“สัตวแพทย์” ระบุ เมื่อสุนัขติดเชื้อไวรัสโควิดจะไม่ค่อยแสดงอาการ

“ที่ผ่านมารายงานที่พบในต่างประเทศ สุนัขจะไม่ค่อยเป็นตัวที่เพิ่มปริมาณไวรัส และเมื่อสุนัขเป็นแล้วจะไม่ค่อยมีอาการ ไม่เหมือนกับแมว ซึ่งในแมวสามารถปล่อยไวรัสได้ในปริมาณสูง แต่ในสุนัขตัวนี้ เราพบปริมาณไวรัสค่อนข้างสูงจากการตรวจสอบโดยการป้ายจมูก อีกทั้งอาจจะเนื่องจากสุนัขมีอายุมาก และเพิ่งได้รับการผ่าตัดขาจากโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา อาจทำให้ภูมิคุ้มกันตก นอกจากนี้ยังพบว่าสุนัข (น้องข้าวปั้น) เริ่มมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ โดยหายใจแรงขึ้น และมีไข้เล็กน้อย  จึงเป็นการยืนยันในเคสแรกของสุนัขว่ามีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นเคสแรกที่ยืนยันจากการตรวจสารพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม อาการการติดเชื้อโควิดในสัตว์จะไม่ค่อยเด่นชัด แต่หากต้องสงสัย ควรแยกสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในกรง” ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว

เปิดแนวทางดูแล “ข้าวปั้น” สุนัขติดโควิด-19 ตัวแรก

ไวรัสตัวนี้ชอบระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร อาการที่เรามักจะพบจากรายงานก็คืออาการทางท้องเสีย หรืออาการทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งข้าวปั้นก็เริ่มมีอาการทางเดินระบบหายใจให้เห็น การกินก็ยังกินได้ปกติ ไม่มีอะไร ให้การรักษาตามอาการไป แต่สิ่งปฏิกูลที่ออกมาจากตัวเขา มูล หรือ สารคัดหลั่ง ก็จะมีการปนเปื้นของไวรัส ดังนั้นผู้ที่ดูแลจะต้องกักบริเวณสุนัข และไม่ไปสัมผัสกับเขาโดยตรง เพราะยังไม่มีรายงานว่ามีการติดเชื้อจากสุนัขหรือแมวเข้าสู่คน

จะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเราติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ?

ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุว่า อาการในสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสุนัขที่รายงานมาในอดีต จะไม่ค่อยแสดงอาการ ส่วนแมวจะมีอาการในระบบทางเดินหายใจเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้มาก และสัตว์พวกนี้ก็จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ ต้องเข้าใจว่าไวรัสโคโรนาไวรัสเป็นไวรัสที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเคยมีรายงาน ทั้งสุนัข แมว หรือสัตว์ในตระกูลเฟอเรท อย่างในบ้านเรา ก็จะมีพวกชะมดที่ควรต้องเฝ้าระวังด้วยเหมือนกัน หรือ หนูแฮมสเตอร์ กระต่าย ก็สามารถติดโควิด-19 ได้

การแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 จาก “คนสู่สัตว์” มีการยืนยันตั้งแต่พบเคสแรกที่ฮ่องกง

ส่วนการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 จาก “คนสู่สัตว์” มีการยืนยันตั้งแต่พบเคสแรกที่ฮ่องกงและหลังจากนั้นก็มีรายงานว่าพบในแมว และโรคที่แพร่จากคนก็สามารถแพร่สู่สัตว์ได้ ไม่ว่าจะเป็นมิงค์ แมว เสือ สิงโต หรือแม้แต่สัตว์ตระกูลลิงกอริลลา

ส่วนการแพร่เชื้อโควิด-19 จาก “สัตว์สู่คน” พบแค่ในตัวมิงค์เท่านั้น

แต่ในทางตรงกันข้าม การแพร่เชื้อจาก “สัตว์สู่คน” มีรายงานอยู่ชนิดเดียวคือ ตัวมิงค์ จึงมีการทำลายฟาร์มมิงค์ที่เบลเยี่ยมหรือเนเธอร์แลนด์ เพื่อลดอุบัติการณ์จากการแพร่จากสัตว์เข้าสู่คน ส่วนสัตว์ในตระกูลอื่นยังไม่มีรายงานว่าสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์กลับเข้าสู่คนได้ เพราะอย่างแมวและสุนัขปริมาณไวรัสค่อนข้างน้อย

มีการทดลองในห้องปฏิบัติการ กรณีการแพร่ใช้ในแมว โดยถ้ามีตัวหนึ่งติดเชื้อ อีกตัวไม่ติดเชื้อ เมื่ออยู่ร่วมกัน ตัวที่ไม่ติดเชื้อสามารถรับเชื้อจากตัวที่ติดเชื้อได้ ฉะนั้นในห้องทดลอง เราพบเฉพาะสัตว์ในตระกูลแมว และ ตระกูลเฟอเรทเท่านั้น ที่แพร่เชื้อในสายพันธุ์เดียวกันได้ 

การติดเชื้อข้ามสายพันธุ์จากสุนัขไปยังแมวสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่?

ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า การติดเชื้อจากสุนัขไปแมวยังไม่มีรายงาน แต่ถ้าถามว่ามีโอกาสไหม ก็มีโอกาส ถ้าปริมาณไวรัสสูงเพียงพอ แนวปฏิบัติคือ ถ้าคิดว่าจะมีการปนเปื้อนเราต้องลดอุบัติการณ์นั้น โดยการทำความสะอาด ลดปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ หรือสัตว์ตัวไหนที่นำมานอนด้วยก็ต้องฝึกพฤติกรรมให้สัตว์เลี้ยงอยู่ได้ด้วยตัวเอง 

แนวทางการปฏิบัติสำหรับสุนัขที่ติดโควิด-19

ถ้าพบว่ามีอุบัติการณ์ไม่ควรเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงไปที่ไหน ควรให้เค้าอยู่ที่เดิม จำกัดบริเวณ เพื่อลดการปนเปื้อนออกสู่ภายนอก มีแนวทางปฏิบัติในการเข้าหาด้วยการใส่ถุงมือ เจ้าของไม่ควรสัมผัสใกล้ชิด ควรทำเพียงให้อาหารและน้ำ แต่ถ้าอยู่บริเวณเดิมก็ทำความสะอาด เพราะไวรัสตัวนี้มีเปลือก เพียงแค่โดนผงซักฟอกหรือสบู่ก็สามารถทำลายได้ ฉะนั้นล้างมือบ่อยๆ ใส่ถุงมือ เพื่อลดการปนเปื้อน

ฉะนั้นถ้ามีความเสี่ยงก็ต้องแยกสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในกรง ก็เหมือนคนให้กักบริเวณ 14 วัน แต่อาการในสัตว์จะยังไม่ค่อยเด่นชัด การเฝ้าระวังที่ทำได้ของตัวสัตว์ในช่วงนี้คือลดการสัมผัสจากคนที่มีความเสี่ยงไปสู่สัตว์ เพราะสัตว์ป้องกันตัวเองไม่ได้ อีกทั้งในสุนัขและแมวก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งปนเปื้อนเยอะ เพราะเค้าชอบเลีย อยู่ที่พื้น

“สิ่งที่อยากให้สังคมรับรู้ว่าโควิด-19 มีการแพร่ระบาดพอสมควรในไทย โอกาสในการสัมผัสโรคจากคนสู่สุนัขก็จะมีโอกาสขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือให้เจ้าของสัตว์แจ้งประวัติว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีประวัติการรับเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ขอรณรงค์ว่าถ้าเจ้าของมีความเสี่ยงหรือได้รับเชื้อโควิด-19 ควรลดการสัมผัสสุนัขโดยตรงเพื่อลดโอกาสไม่ให้มีการติดโรคจากคนสู่สัตว์ และถ้าหากเรามีสุนัขซึ่งคาดว่าจะมีปัญหาหรือติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่ควรเคลื่อนย้ายเค้า ไม่ให้เกิดความเครียดว่า ไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม แต่ควรจะต้องกักบริเวณที่เค้าเคยอยู่ ลดการสัมผัสโดยตรง ควรสวมถุงมือ ใส่แมสก์ ให้เฉพาะอาหารและน้ำตามที่จำเป็น” ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุ 

วัคซีนในสัตว์ยังอยู่ระหว่างการทดลอง

สำหรับวัคซีนโควิด-19 ในสัตว์นั้น ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุว่า เริ่มมีการทำวัคซีนในสัตว์ออกมาแล้ว แต่ยังเป็นเรื่องของการทดลองและจะเห็นว่าทางจุฬาฯ ก็มีการพัฒนาวัคซีนในคน ส่วนในสัตว์อาจจะต้องรออีกสักระยะหนึ่ง และอาจจะมีประกาศเหมือนในคน คือรับอาสาสมัครมาฉีดวัคซีน เพื่อจะดูว่าวัคซีนกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิต้านทานมากน้อยแค่ไหน

 ประชาชนควรนำสัตว์เลี้ยงมาตรวจเลยหรือไม่ หลังพบสุนัขติดเชื้อโควิด-19 ตัวแรก?

ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่เดิมของเขา เพราะโอกาสน้อยมากไม่ได้ติดง่ายๆ  จะเห็นว่าในเมืองไทยเพิ่งจะมาเจอในระลอกที่ 3 ระลอกที่ 2 ที่สมุทรสาคร ที่เราทำการเซอร์เวย์ เราเจอผลที่ยังไม่ยืนยัน เพราะปริมาณไวรัสยังไม่เยอะมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสุนัขแข็งแรง แมวแข็งแรง แต่ในกรณีของข้าวปั้นคือเป็นสุนัขที่อายุมากและเพิ่งเข้ารับการผ่าตัด และเป็นมะเร็ง โอกาสของการรับเชื้อโรคจึงสูงกว่าสุนัขทั่วไป

“ตรงนี้เองต้องบอกว่าประชาชนหรือผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่าเพิ่งตื่นตระหนก แต่เราควรจะต้องเฝ้าระวังและป้องกันตัวเอง อย่าให้เรานำเชื้อไปให้เขา อย่างที่อาจารย์เล่าไป ตัวไหนที่นอนกับคนก็ต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมให้เค้าอยู่ได้ด้วยตัวเอง หากหักดิบก็จะกระทบต่อจิตใจสัตว์เลี้ยงได้ ทั้งนี้ หากเจ้าของป่วยก็อาจจะให้เพื่อนบ้านหรือใครก็ตามมาให้อาหารกับน้ำเท่านั้น และทุกครั้งที่ เข้าใกล้จะต้องใส่แมสก์ ใส่ถุงมือ และทำความสะอาดทุกครั้ง ไม่สัมผัสสัตว์เลี้ยงโดยตรง” ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว

สุนัขมีโอกาสกลับมาติดเชื้อโควิด-19 ได้อีกหรือไม่?

ยังไม่พบรายงานการติดเชื้อซ้ำในสัตว์ แต่ถ้าในคนมีโอกาสติดเชื้อซ้ำเนื่องจากสายพันธุ์ที่มันเปลี่ยนไป เนื่องจากไวรัสสามารถแพร่ได้และเข้าไปสู่ในคนได้เป็นล้าน ๆ คน อย่างที่เราเห็นในข่าวก็จะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกา บราซิล หรืออินเดีย

การใส่หน้ากากให้สัตว์เลี้ยงจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ ?

ไม่แนะนำให้สุนัขใส่แมสก์เพราะการใส่แมสก์จะทำให้สุนัขรำคาญ และแมสก์ในสุนัขก็ไม่ได้ป้องกันเพราะไม่มีขนาดที่กระชับรับกับใบหน้าของสุนัขได้ ฉะนั้นการป้องกันคืออย่านำสุนัขออกไปเดินเล่นภายนอกบ้าน ควรอยู่ในบริเวณบ้าน เพราะการออกไปเดินเล่น เราก็ไม่รู้ว่าสัตว์เลี้ยงเราไปสัมผัสสิ่งปนเปื้อนจากภายนอกอย่างไร และเมื่อมีอุบัติการณ์ของโรคโควิด-19 มากขึ้น สิ่งแวดล้อมก็จะมีการปนเปื้อนมากขึ้น ซึ่งสุนัขก็จะชอบดม ทำให้สัมผัสและรับโรคมากขึ้นได้ ถ้าสุนัขอยู่ในบ้านโอกาสการสัมผัสโรคก็จะน้อยลง

หากเจอเคสเสี่ยงขอคำแนะนำได้ที่ศูนย์เฉพาะทางโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ฯ

ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากเจอเคสที่สงสัยสามารถติดต่อมาได้ที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ฯ ได้ ซึ่งเราจะให้คำแนะนำ และเราก็ไม่แนะนำให้พาสัตว์เลี้ยงมาที่ร้านถ้ามีความเสี่ยง ในกรณีของข้าวปั้นก็อาจจะเป็นความไม่รู้ และตัวของข้าวปั้นเองก็ไม่ได้มีอาการ ฉะนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงหากติดโควิด-19 แล้ว สัตว์ของท่านก็มีโอกาสได้รับเชื้อได้ ต้องให้เขาอยู่ที่เดิม ลดการปนเปื้อนหรือสัมผัส และต้องแจ้งข้อมูล ประวัติความเสี่ยงให้กับสัตวแพทย์ทุกท่านทราบ เพราะเราต้องการลดโอกาสในการแพร่โรคระหว่างคนสู่คน และคนสู่สัตว์

“ไม่ต้องตื่นตระหนกเพราะโอกาสการติดโรคโควิดจากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงไม่ได้เยอะมาก แต่โอกาสก็มี ถ้าท่านไปสัมผัสกับเค้าโดยตรง โดยการกอดจูบ ลูบคลำ หรือให้อาหารเหลือจากที่ท่านทาน ก็ถือเป็นความเสี่ยงในสัตว์เลี้ยง”ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว

ข้อมูลอ้างอิง
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4080281542018034&id=100001086843050
การสัมภาษณ์ ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 6 พ.ค.64

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยิงสส.กัมพูชา

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” ดับกลางกรุงเทพฯ

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ดับใกล้วัดดังกลางกรุง พบเหยื่อมีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลฮุนเซน

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม พร้อมกำหนดบทลงโทษหากพบเข้าไปข้องเกี่ยว

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา-วอศ.สระบุรี ชนะเลิศแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา และ วอศ.สระบุรี ชนะเลิศในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวแนะนำ

“เด็ก-เยาวชน” ส่ง ส.ค.ส.อวยพร “ปีใหม่-วันเด็ก” ให้นายกฯ

“เด็ก-เยาวชน” ส่ง ส.ค.ส.อวยพรปีใหม่ 2568 – วันเด็ก ให้ “นายกฯ พี่อิ๊งค์” มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง อยู่คู่ตึกไทยคู่ฟ้า บริหารประเทศไปนานๆ พร้อมฝากความคิดถึง “อดีตนายกฯ ทักษิณ”

16 บอสดิไอคอน แถลงปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.

16 บอส ดิไอคอนกรุ๊ป แถลงปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.นี้ ขณะที่ “ทนายวิฑูรย์” เผย “บอสพอล-บอสกันต์” ดีใจ หลัง “แซม-มิน” ได้ปล่อยตัว ส่วนท่าทีทั้งคู่ดูสบายๆ ปกติ ล่าสุดมีรายงาน “บอสวิน” ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว อยู่ระหว่างรอผล

ภรรยา “ลิม กิมยา” ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน

ภรรยา “ลิม กิมยา” ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน รวมถึงดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารและการติดต่อรับศพนายลิม ที่แผนกนิติเวช รพ.วชิรพยาบาล