บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์บทความเตือนว่า “ไขมันพอกตับคนไทยเป็นกันมาก ไม่ใช่เฉพาะดื่มเหล้าเท่านั้น กินอาหารที่มีน้ำตาลและรสหวานทั้งหลาย ออกกำลังกายก็ไม่ช่วย” จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ไขมันพอกตับ” ไม่ได้เกิดมาจากการดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว แต่การกินอาหารคาร์โบไฮเดรตกลุ่มข้าวแป้งมาก ๆ โดยเฉพาะ “น้ำตาล” จะทำให้ได้พลังงานที่มากเกิน ตับก็จะสร้างพลังงานที่มากเกินนั้นเป็นไขมัน ซึ่งตอนแรกไขมันก็จะเก็บสะสมอยู่ที่ตับ แล้วต่อไปก็จะทำให้เซลล์ของตับมีการเสื่อมเสียไป อาจจะส่งผลต่อเอนไซม์ของตับสูงขึ้นและเกิดภาวะของตับอักเสบ
ไขมันพอกตับเป็นสัญญาณของโรคหัวใจและหลอดเลือด ?
ไขมันพอกตับมีส่วนสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ไขมันพอกตับมีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน หรือภาวะเมตาบอลิกที่ผิดปกติไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ มีภาวะของน้ำหนักตัวเกิน และอ้วน ก็จะพบมากขึ้นโดยที่คนกลุ่มเหล่านั้นไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์
ไขมันพอกตับมาจากน้ำตาลฟรักโทส หรือน้ำตาลอุตสาหกรรม ?
ไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป (High-fructose corn syrup : HFCS) จะให้ความหวานที่มากกว่าและราคาถูกกว่า ดังนั้นจึงมีการใช้กันมาก และในบางผลิตภัณฑ์ไม่ได้เขียนว่าเป็นน้ำตาล ทำให้เข้าใจผิด เพราะคิดว่าไม่มีน้ำตาลจึงกินเข้าไปปริมาณมากเกิน
มีการศึกษาที่พยายามจะตอบว่า High-Fructose Corn Syrup ทำให้มีไขมันพอกตับมากกว่าน้ำตาลอย่างอื่นหรือไม่ อย่างเช่นน้ำตาลทรายทั่วไป โดยส่วนใหญ่พบว่าไปสัมพันธ์กับการได้พลังงานที่มากเกินไป ไม่ว่าจะมาจากน้ำตาลชนิดไหนก็ตาม
ดังนั้น ในทางวิทยาศาสตร์จริง ๆ ยังไม่สามารถตอบได้ว่า High-Fructose Corn Syrup ทำให้เป็นไขมันพอกตับมากกว่าน้ำตาลทราย
แม้จะออกกำลังกายมาก ไขมันก็ยังพอกตับได้อยู่ แต่ก็ไม่ควรบอกว่า “การออกกำลังกายไม่เป็นประโยชน์”?
ในการศึกษา ถ้าไม่สามารถลดพลังงานที่ได้จากการกินอาหาร แม้จะมีการออกกำลังกาย แต่น้ำหนักตัวไม่ได้ลดลงไปมากกว่าเดิมได้ ไขมันพอกตับก็ไม่ได้หายไป กรณีนี้จึงพบว่าการออกกำลังกายไม่ได้ช่วยลดไขมันพอกตับ
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาโดยที่ไม่ได้นำเรื่องของอาหารเข้ามาเกี่ยวข้อง พบว่าการออกกำลังกายไม่ได้ช่วยทำให้เอนไซม์ของตับดีขึ้น แต่อาจจะช่วยทำให้ไขมันที่พอกที่ตับลดน้อยลงได้
ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายอาจจะไม่ได้มีผลช่วยในเรื่องของไขมันพอกตับ แต่ “การออกกำลังกาย” มีประโยชน์เรื่องโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด จึงไม่ควรบอกว่า “การออกกำลังกายไม่เป็นประโยชน์”
ต้องเลิกกินน้ำตาลและของหวาน ไขมันที่พอกตับก็จะค่อย ๆ ถูกกำจัดไป ?
ใครก็ตามที่ “เลิกกินน้ำตาลและของหวาน จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาไขมันพอกตับได้มาก”
การลดเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ที่มีปริมาณของไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป จะช่วยทำให้ไขมันพอกตับลดลง รวมทั้งการกินอาหารอย่างอื่น ๆ รวมกันแล้วทำให้ได้พลังงานไม่เกินกว่าที่ร่างกายต้องการ
จะรู้ได้อย่างไรว่า “ไขมันพอกตับ” แล้ว ?
โดยปกติ “ไขมันพอกตับจะไม่มีอาการ” มักจะรู้ได้จากการไปตรวจร่างกาย
ดังนั้น ถ้าตรวจพบว่ามีไขมันพอกตับ น่าจะเป็นสัญญาณที่ทำให้กลับมาดูแลตนเองให้ดีขึ้น ก็คือการควบคุมน้ำหนักตัว ซึ่งจะสัมพันธ์กับการกินอาหารโดยภาพรวม ที่ให้ได้พลังงานลดน้อยลง
ข้อมูลนี้แชร์ต่อได้ โดยเฉพาะเรื่องของของหวานจากพวกน้ำตาล ก็ควรลดปริมาณการกินลง เพื่อลดความเสี่ยงไขมันพอกตับ
“การออกกำลังกาย” ถึงแม้จะไม่มีผลโดยตรงกับไขมันพอกตับ แต่ยังถือว่ามีความสำคัญที่จะทำให้สุขภาพของร่างกายดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของระบบหัวใจและหลอดเลือด จึงควรที่จะออกกำลังกายเป็นประจำอยู่เสมอ
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ไขมันพอกตับ เพราะกินหวาน ออกกำลังกายก็ไม่หาย จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter