บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์คำเตือนสำหรับการเลี้ยงทารกว่า “ห้ามเด็กนอนคว่ำ ถึงแม้จะทำให้ศีรษะมีรูปร่างสวยงาม” จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นพ.ฉัตรชัย ธำรงอาจริยกุล สาขาวิชาโรคระบบประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การนอนคว่ำของเด็กที่คอยังไม่แข็งแรงมากพอ เด็กจะพยายามหันหน้าไปมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผ้าห่ม หมอน เบาะรองนอน อุดกั้นจมูก ปาก ทำให้หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้
ที่สหรัฐอเมริกา ประมาณปี 1990 พบเด็กทารกเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเรียกว่าภาวะใหลตาย ปีละประมาณ 4,900 คน
หลังจากนั้น สหรัฐอเมริการณรงค์ให้เด็กทารกเปลี่ยนมานอนหงาย อัตราการเสียชีวิตลดลงมาเหลือ 2,000 กว่ารายต่อปี ดังนั้น ท่านอนหงายจึงเป็นท่าที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กทารก
การนอนหงาย ทำให้ “ศีรษะ” แบน ?
ถ้าให้เด็กทารกนอนหงายอย่างเดียวก็ทำให้ “ศีรษะแบน” ได้
วิธีแก้ไขก็คือระหว่างเด็กทารกหลับให้นอนหงายอย่างเดียวจนถึงอายุ 1 ขวบ เพื่อป้องกันอันตรายจากภาวะการหยุดหายใจ หรือทางเดินหายใจอุดกั้น
เมื่อเด็กเริ่มตื่นดีพร้อมที่จะเล่นแล้ว สิ่งที่คุณแม่ควรทำก็คือจับลูกนอนคว่ำและเล่นกับลูก เด็กจะมีพัฒนาการได้ดีมากขึ้น กล้ามเนื้อคอจะแข็งแรงมากขึ้น จะเริ่มชันคอ เริ่มมอง เริ่มคุย ทำให้พัฒนาการทางด้านภาษา ด้านร่างกาย และคอดีมากขึ้น
เด็กทารกที่นอนท่าไหนนาน ๆ ทำให้ศีรษะเด็กผิดรูปได้ ?
ปกติแล้ว ขณะที่ทารกอยู่ในท้องของแม่ กะโหลกศีรษะจะแยกออกเป็นชิ้น ๆ (ยังไม่ประสานติดเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด) เพื่อให้ขณะคลอดศีรษะผ่านอุ้งเชิงกรานออกมาได้ หลังจากคลอดออกมาแล้ว สมองเจริญเติบโตมากขึ้น กะโหลกศีรษะจะค่อย ๆ มาเชื่อมกัน
ดังนั้น ขณะที่เด็กทารกนอน ไม่ว่าจะนอนท่าไหนก็ตาม และนอนอยู่ท่าเดิมนาน ๆ กะโหลกก็จะมีการปิดผิดรูปแบบ แล้วก็จะทำให้ศีรษะเบี้ยวได้อยู่แล้ว
เด็กทารก “นอนหงาย” มาก ๆ ศีรษะจะแบน
ถ้าเด็กทารกนอน “ตะแคง” มาก ๆ ศีรษะจะยาวออกทางด้านหน้า และด้านหลัง ส่วนด้านข้างศีรษะจะแบนลีบ
รอยแยกของกะโหลกศีรษะจะมีการปิดแต่ละช่วงอายุ เช่น บางรอยแยกปิดช่วงอายุ 3-9 เดือน บางรอยแยกปิดที่ประมาณ 1 ขวบ และบางรอยแยกกว่าจะเชื่อมกันจริง ๆ ใช้เวลา 50-60 ปี เพื่อเหลือพื้นที่ให้สมองได้เจริญเติบโต
ถ้าพบว่าเด็กมีภาวะ “ศีรษะเบี้ยว” ตั้งแต่กำเนิด สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังภาวะการเชื่อมติดกันของกะโหลกศีรษะก่อนกำหนด จะต้องพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย
ถ้าคลอดออกมา “ศีรษะกลมดี” แต่นอนท่าเดิมนาน ๆ แล้วศีรษะเริ่มเบี้ยว สิ่งที่ต้องทำก็คือพลิกไปอีกด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย
โดยทั่วไปสมองขยายออกทุกทิศทาง และกะโหลกศีรษะจะได้รับการแก้ไขโดยธรรมชาติภายในช่วง 4 เดือนแรก หลังจากนั้นจะเริ่มมีหินปูนมาเกาะมากขึ้น กะโหลกศีรษะจะเริ่มแข็งตัว การเปลี่ยนรูปร่างของกะโหลกศีรษะจะทำได้ค่อนข้างยาก ถ้าต้องการจะทำอีกครั้งหนึ่ง อาจจะต้องอาศัยการผ่าตัดช่วย
ศีรษะผิดรูป ส่งผลกระทบต่อสมองหรือไม่ ?
ถ้าศีรษะผิดรูปจากท่านอน สมองจะขยายไปทางด้านอื่น สมองจะไม่ถูกจำกัดอยู่ในกะโหลกศีรษะอย่างเดียว
ดังนั้น จะไม่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง แต่ถ้ามีรอยแยกของกะโหลกศีรษะเชื่อมก่อนกำหนด อาจจะมีปัญหาเรื่องความดันในสมองและความดันในโพรงสมองเพิ่มขึ้น
การเลี้ยงดูเด็กทารกผิดวิธี อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้
สัมภาษณ์โดย พงศ์อิทธิ์ เชิดชูวงศ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : คำเตือนห้ามเด็กนอนคว่ำ จริงหรือ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter