องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ Mpox (ฝีดาษลิง) เป็น “ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ” หลังจากโรคแพร่กระจายไปตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 450 คน โรค Mpox น่ากลัวจริงหรือ ? และทำไมองค์การอนามัยโลกถึงต้องประกาศภาวะฉุกเฉินรอบที่ 2 ?
รู้จัก “โรคฝีดาษลิง : monkeypox”
โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัส monkeypox ถูกค้นพบครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2501 จากลิงที่ป่วย
ปี พ.ศ. 2513 พบการติดเชื้อในคนเป็นครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จากนั้นแพร่ระบาดในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก
คนที่ติดเชื้อไวรัส monkeypox มีอาการคล้ายกับไข้ทรพิษ (โรคฝีดาษ : Smallpox) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงตั้งชื่อภาษาไทยว่า “โรคฝีดาษลิง”
จาก “ฝีดาษลิง” ถึง โรค “Mpox”
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประกาศเปลี่ยนชื่อโรค Monkeypox (ฝีดาษลิง) เป็นโรค Mpox เริ่มใช้ชื่อโรคใหม่ปี 2566
โดย WHO อ้างถึงความวิตกกังวลว่าการเรียกชื่อโรค monkeypox ที่พบในสัตว์หลายสิบปีที่ผ่านมา อาจทำให้ถูกตีความว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือการเหยียดเชื้อชาติ
ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อโรค Mpox มากกว่า 100 ประเทศ
Mpox : ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ
การประกาศให้โรค Mpox (เอ็มพ็อกซ์) เป็น “ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกด้วย
เพราะว่าเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรค monkeypox (ปัจจุบัน Mpox) เป็น “ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ” แต่การประกาศก็สิ้นสุดลงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566
“ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) คือระดับการเตือนภัยสูงสุดขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้มีการเร่งวิจัย จัดระดมเงินทุน วางมาตรการด้านสาธารณสุข และประสานความร่วมมือระดับโลกเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค Mpox
เนื่องจากการระบาดของโรค Mpox ระลอกนี้เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ย่อย Ib (Clade Ib) ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยไวรัสแพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านการติดต่อระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า Mpox สายพันธุ์ Ib สามารถแพร่กระจายได้ไม่เพียงแค่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังผ่านทางการติดต่อในครอบครัวด้วย โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวและเด็ก
อาการแสดงของโรค Mpox
อาการแสดงของผู้ป่วยโรค Mpox มักพบได้หลังการได้รับเชื้อแล้ว ใช้เวลาฟักตัว 5-21 วัน จึงจะแสดงอาการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 (วันที่ 0-5) จะมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่มีไข้ ซึ่งอาจมีการแพร่เชื้อผ่านระยะนี้ได้เล็กน้อย
ระยะที่ 2 ออกผื่น (1-3 วันหลังมีไข้) เป็นช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้มาก โดยผื่นจะเริ่มจากบริเวณใบหน้า จากนั้นจึงกระจายไปตามแขนขา ฝ่ามือฝ่าเท้า บางรายอาจมีผื่นบริเวณเยื่อบุช่องปาก อวัยวะเพศ และเยื่อบุตาได้ โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจากผื่นแดงราบ เปลี่ยนเป็นผื่นแดงนูน ตุ่มน้ำ และตุ่มหนอง ตามลำดับ จากนั้นจะตกสะเก็ดและหลุดลอกออก ซึ่งผู้ป่วยจะยังสามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าสะเก็ดจะหลุดลอกออกหมด ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
ลักษณะสำคัญที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค Mpox
- ผื่นจะมีขอบเขตชัดเจน ลักษณะฝังลึก (deep-seated) อาจมีรอยบุ๋มตรงกลาง
- ผื่นจะมีขนาดเท่า ๆ กัน และอยู่ในระยะเดียวกันทั่วร่างกาย ผื่นบางส่วนอาจรวมกันเป็นปื้นใหญ่
- มีประวัติไข้นำมาก่อนการเกิดผื่น
- มักพบต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย อาจเป็นเฉพาะที่หรือหลายตำแหน่งก็ได้
- ผื่นส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณแขน ขา และใบหน้า มากกว่าลำตัว
- มีผื่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า
- ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บบริเวณที่เป็นผื่น ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง
- อาจพบแผลบริเวณที่เป็นจุดที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
- ผู้ติดเชื้อบางส่วนมาแสดงด้วยแผลบริเวณปาก อวัยวะเพศ หรือรอบทวารหนัก โดยไม่มีไข้นำมาก่อนได้
ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมีประวัติทางระบาดวิทยาเข้าได้ ก็นับว่าเป็นผู้ป่วยสงสัย และแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วย
โรค Mpox : การติดเชื้อจากสัตว์สู่คน
โรค Mpox สามารถพบในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ (เช่น หนู กระรอก กระต่าย) ดังนั้นสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อและเป็นพาหะของโรคนี้ได้
การติดเชื้อจากสัตว์สู่คน สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรืออาจอาจติดเชื้อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ปรุงไม่สุกที่มีเชื้อ Mpox
โรค Mpox : การติดเชื้อจากคนสู่คน
การติดเชื้อโรค Mpox จากคนสู่คนแพร่ระบาดไปทั่วโลกด้วยการเคลื่อนย้ายประชากรของผู้ป่วยที่มีเชื้อโรค Mpox จากประเทศหนึ่งไปอีกหลายประเทศต่างภูมิภาค และสามารถติดเชื้อโรคได้ ดังนี้
- การสัมผัสโดยตรงกับรอยโรค ตุ่มหนอง หรือสารน้ำในตุ่มหนองที่แตกออกมา
- ติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม
- การกอดจูบ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ
- การสัมผัสสิ่งของ เช่น เสื้อผ้า หรือของใช้ที่มีสารคัดหลั่งปนเปื้อน
- ติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์
โรค Mpox สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือเริ่มมีตุ่มขึ้น ไปจนระยะที่ตุ่มตกสะเก็ด และเมื่อแผลหายดีแล้วก็จะหมดระยะการแพร่เชื้อ
การป้องกันโรค Mpox
ปัจจุบัน ยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะสำหรับโรค Mpox แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อ
องค์การอนามัยโลกระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน สามารถป้องกันโรค Mpox ได้ อย่างน้อย 85% และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการได้รับวัคซีนโรคฝีดาษในคนหลังจากสัมผัสเชื้อแล้ว จะสามารถลดความรุนแรงและอาจป้องกันการติดเชื้อได้
สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก ให้การรักษาโดยให้วัคซีนฝีดาษร่วมกับให้ยาต้านไวรัสชื่อ brincidofovir หรือ cidofovir
ป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้ออยู่ห้องแยก สวมหน้ากากอนามัย และใส่เสื้อคลุมปกปิดผื่นทั้งหมด จนกระทั่งผื่นหายดี ตกสะเก็ดและหมดระยะการแพร่เชื้อแล้ว
ประเทศไทย ประชากรไทยที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2523 จะได้รับการปลูกฝี ซึ่งถือว่าได้รับวัคซีนฝีดาษในคนเรียบร้อยแล้ว แต่ประชาชนที่เกิดหลังปี 2523 ไม่มีการปลูกฝีสำหรับป้องกันโรคฝีดาษ ดังนั้นต้องใช้วิธีป้องกันโรคเท่านั้น ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ (เช่น หนู กระรอก) และสัตว์ตระกูลไพรเมต (เช่น ลิง) หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด
- ปฏิบัติตามมาตรการ universal prevention (UP) โดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก และกินอาหารปรุงสุก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง
- หลังเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรค Mpox ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง
ประเทศไทยกับโรค Mpox ณ วันนี้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองโรค ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และโรงพยาบาลทุกแห่ง พร้อมประสานแจ้งให้คนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศที่ระบาด สังเกตและแจ้งอาการต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หากสงสัยว่าป่วยภายหลังกลับมาถึงแล้วให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาทันที
ประเทศไทยมีประสบการณ์รับมือกับโรค Mpox ที่เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2565-2566 ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และมีระบบเฝ้าระวังคัดกรองและป้องกันควบคุมโรคที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับโลก
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยต้องสงสัยโรค Mpox (ฝีดาษลิง) สายพันธุ์ Clade 1 คนแรกในประเทศไทย (วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2567) วันนี้ไม่ใช่การยืนยันว่าพบผู้ป่วยโรค Mpox สายพันธุ์ Clade 1B แต่เป็นผู้ป่วยต้องสงสัยโรค Mpox เท่านั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ผลยืนยัน 100% แต่ค่อนข้างเชื่อได้ว่าอาจจะเป็นโรค Mpox
ผู้ป่วยคนดังกล่าวเป็นชาวยุโรป เพศชาย อายุ 66 ปี เดินทางมาจากประเทศในแถบแอฟริกาที่พบการระบาดของโรค Mpox สายพันธุ์ Clade 1B โดยมีการต่อเครื่องในประเทศแถบตะวันออกกลาง ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เวลาประมาณ 18.00 น.
จากนั้นวันที่ 15 ส.ค. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ มีตุ่มขึ้นเล็กน้อยจึงเดินทางไปโรงพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลซักประวัติได้มีการตรวจโรค Mpox สายพันธุ์ Clade 2 ปรากฏผลลบ ส่วนการตรวจสายพันธุ์ Clade 1B ปรากฏว่าผลไม่ชัดเจน โดยมีการตรวจยืนยันอีกว่าใช่โรค Mpox หรือไม่ด้วยการใช้ยีนซึ่งพบว่าเป็นโรค Mpox อย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่ใช่สายพันธุ์ Clade 2 ส่วนสายพันธุ์ Clade 1B ก็ยังไม่ชัดเจน จึงต้องมีการไล่ยีนตรวจซ้ำอีกครั้งว่าใช่สายพันธุ์ Clade 1B หรือไม่
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า แม้ผลตรวจจะยังไม่ชัดเจน 100% แต่การควบคุมป้องกันโรคต้องให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจและลดความตื่นตระหนก ขณะที่กรมควบคุมโรคมีระบบติดตามผู้สัมผัสหรือผู้ที่นั่งใกล้กับผู้ป่วยคนดังกล่าวบนเครื่องบิน เพื่อติดตามสอบสวนโรค ขณะนี้มีรายชื่อทั้งหมดแล้ว 43 คน โดยมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งต้องเฝ้าระวังติดตามอาการไปอีก 21 วัน
ผู้ป่วยไม่มีอาการรุนแรง คาดว่าวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2567 จะสามารถยืนยันผลการตรวจได้ 100% หากผลการตรวจยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ 1B ก็จะถือว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกที่พบในประเทศไทยสำหรับสายพันธุ์ 1B
โรค Mpox มีหลายสายพันธุ์เหมือนไข้หวัดใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าสายพันธุ์ใดระบาด โดยในปี พ.ศ. 2565 มีการระบาดของสายพันธุ์ Clade 2 ซึ่งในประเทศไทยก็พบการระบาดของสายพันธุ์นี้ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบันประมาณ 800 คน
ส่วนในปี 2567 ตั้งแต่ต้นปีก็พบโรค Mpox สายพันธุ์ Clade 2 ประมาณ 140 คน แต่เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรค Mpox สายพันธุ์ Clade 1B เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ก็อาจจะมีผลกระทบได้ ซึ่งถือเป็นการตอบสนองของประเทศไทยหลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไว้
สำหรับโรค Mpox สายพันธุ์ที่มีการระบาดในทั่วโลกขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ
สายพันธุ์ Clade 1 สายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต พบการระบาดในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกเป็นหลัก มีอัตราการป่วยตายสูง โดยพบกลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กและผู้สูงอายุ
สายพันธุ์ Clade 2 สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในไทยและหลายประเทศทั่วโลก
การมี “อนามัยส่วนบุคคล” และ “พฤติกรรมสุขภาพ” สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค Mpox ได้
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, องค์การอนามัยโลก
สามารถติดตามรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ LIVE : วิธีรับมือ! ฝีดาษวานร mPox สายพันธุ์ Clade
พูดคุยกับ พ.ญ.ลานทิพย์ เหราบัตย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี
https://www.facebook.com/SureAndShare/videos/1217586765940489
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter