ชัวร์ก่อนแชร์ : น้ำตาเทียม ใช้มากส่งผลให้ “ไตวาย ไตเสื่อม” จริงหรือ ?

บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อความว่า “น้ำตาเทียม” เมื่อใช้นาน ๆ อาจทำให้ “ไตวาย ไตเสื่อม” ได้ เรื่องนี้จริงหรือ ?


🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

โดยปกติแล้วคนเรามี “น้ำตา” ทำหน้าที่ให้ออกซิเจนและความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและเยื่อบุตา ช่วยปรับสภาพของกระจกตาให้มีความเรียบเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน และช่วยป้องกันการติดเชื้อและขจัดของเสียออกจากกระจกตา


เมื่อใดก็ตามที่น้ำหล่อเลี้ยงกระจกตาระเหยไป หรือร่างกายผลิตน้ำตาธรรมชาติไม่เพียงพอที่จะใช้ในการหล่อเลี้ยงกระจกตาและเยื่อบุตา จะทำให้เกิดอาการตาแห้ง ตาแดง ระคายเคืองตา แสบตา และตาพร่า ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้องใช้ “น้ำตาเทียม” เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา

“น้ำตาเทียม” คือยาหยอดตารูปแบบหนึ่ง ผลิตจากสารสังเคราะห์คล้ายน้ำตาธรรมชาติเพื่อทดแทนน้ำตาธรรมชาติ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นหรือหล่อลื่นดวงตา ใช้สำหรับบรรเทาอาการตาแห้ง

น้ำตาเทียม ทำให้ไตวาย ไตเสื่อม จริงหรือ ?


เรื่องนี้ไม่จริง ยังไม่พบผู้ป่วยไตเสื่อม ไตวาย จากการใช้น้ำตาเทียมที่ผลิตจากสารที่มีส่วนประกอบคล้ายกับน้ำตาธรรมชาติของคนเรา

น้ำตาธรรมชาติแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ น้ำตาพื้นฐาน น้ำตาจากสิ่งเร้าภายนอก น้ำตาจากอารมณ์

1. น้ำตาพื้นฐาน (Basal tears) คือน้ำที่ฉาบลูกตาอยู่ตลอดเวลา สร้างจากเซลล์ที่อยู่รอบ ๆ เยื่อบุตาขาว ช่วยสร้างความหล่อลื่น บำรุงและปกป้องกระจกตา ทั้งยังเป็นเกราะป้องกันดวงตาจากฝุ่นผงต่าง ๆ

2. น้ำตาจากสิ่งเร้าภายนอก (Reflex tears) เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสิ่งระคายเคือง เช่น ควัน ลม ฝุ่น รวมถึงสารบางชนิดเวลาหั่นหัวหอมมีน้ำตาไหลออกมา

3. น้ำตาจากอารมณ์ (Emotional tears) น้ำตาที่ไหลออกมาตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น เสียใจ ดีใจ หวาดกลัว

ปัจจุบัน คนมีปัญหาน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาแห้ง หรือภาวะ “ตาแห้ง” (Dry eye) การใช้น้ำตาเทียมจึงเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อใช้น้ำตาเทียมหยอดตาแล้วรู้สึกสบายตาและลดอาการตาแห้งได้

น้ำตาเทียมทาผิวหนังทดสอบการดูดซึม และเคาะไตเพื่อประเมินการทำงานของไต เรื่องนี้จริงหรือ ?

กรณีที่อ้างถึงวิธีการทดสอบน้ำตาเทียมว่าทำให้เกิดไตอักเสบโดยการเคาะไตนั้น ตามมาตรฐานการแพทย์สาขาวิชาโรคไต อายุรแพทย์จะใช้วิธีการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินการทำงานของไต ซึ่งยังไม่เคยพบว่าอายุรแพทย์โรคไตวินิจฉัยโรคด้วยการเคาะไต ดังนั้นถ้าสงสัยว่าเป็นโรคไตควรไปสถานพยาบาลเพื่อตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ย่อมจะดีกว่าถูกเคาะไต

นอกจากนี้ สิ่งที่แชร์กันมีการนำน้ำตาเทียมทาผิวหนังบริเวณแขน 5 นาที ซึ่งเป็นวิธีการทดสอบที่ไม่เป็นมาตรฐานสากลเนื่องจากการดูดซึมยาที่บริเวณดวงตากับที่ผิวหนังแตกต่างกัน การทดสอบดังกล่าวจึงขาดความน่าเชื่อถือ และน้ำตาเทียมผลิตขึ้นมาเพื่ออวัยวะบริเวณดวงตาที่มีระบบการดูดซึมแตกต่างจากยาทาผิวหนังชนิดอื่น

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือได้ว่าน้ำตาเทียม (รูปแบบที่มีสารกันบูดและไม่มีสารกันบูด) มีผลทำให้เกิดภาวะไตวาย-ไตเสื่อม ส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบเฉพาะที่ (เช่น ระคายเคือง คันตา) เพราะน้ำตาเทียมนั้นจัดอยู่ในกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์แบบเฉพาะที่

การใช้น้ำตาเทียมกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

โดยทั่วไป น้ำตาเทียม 1 หยด มีปริมาณ 50 ไมโครลิตร จะสังเกตได้ว่าเมื่อหยอดน้ำตาเทียมแล้ว น้ำตาเทียมจะอยู่บริเวณอุ้งลูกตาด้านในประมาณ 15-20 ไมโครลิตร และอีกประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์จะไหลออกนอกลูกตา เพราะฉะนั้นโอกาสที่น้ำตาเทียมจะเข้าสู่ร่างกายจึงมีปริมาณน้อยอยู่แล้ว

หลังจากหยอดน้ำตาเทียมแล้ว ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของน้ำตาเทียมจะระบายออกทางท่อน้ำตาที่อยู่บริเวณหัวตาทั้ง 2 ข้าง ไหลลงไปที่จมูก

บางครั้งจะสังเกตเห็นว่าหลังหยอดน้ำตาเทียมแล้วจะมีน้ำมูกไหล หรือรู้สึกมีอาการขมบริเวณคอ ซึ่งในส่วนนี้มีปริมาณน้อยมาก

ถ้าองค์ประกอบของน้ำตาเทียมไม่ได้เป็นสารอันตรายก็จะไม่เกิดผลต่อระบบร่างกายแต่อย่างใด

น้ำตาเทียมบางส่วนอาจจะหมุนเวียนเข้าสู่กระแสเลือดได้ (ในปริมาณที่น้อยมาก) เพราะน้ำตาเทียมผ่านการดูดซึมบริเวณเยื่อบุด้านในของจมูกและกลับเข้าสู่กระแสเลือดได้ แต่การที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบร่างกายของคนเราได้นั้น หมายถึงสารพิษมีปริมาณค่อนข้างมากและต่อเนื่อง

กรณีน้ำตาเทียมซึ่งเป็นสารที่พยายามทำเลียนแบบธรรมชาติซึ่งมีปริมาณน้อยมากที่อยู่บริเวณดวงตาและดูดซึมเข้าสู่ระบบร่างกาย ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายหรือไตอย่างที่เป็นข่าว

“น้ำตาเทียม” ถือว่าเป็นยาหยอดตาที่ค่อนข้างปลอดภัย พบคนที่แพ้น้อยกว่ายาหยอดตาชนิดอื่น เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยาลดความดันตา ซึ่งเป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อระบบร่างกาย

ถ้ามีโรคประจำตัวจะต้องบอกจักษุแพทย์ เพราะโรคประจำตัวบางโรคไม่สามารถใช้ยาหยอดตาบางตัวได้

มีหลายวิธีช่วยลดปัญหาตาแห้ง ?

ปัจจุบัน คนมีปัญหาเรื่อง “ตาแห้ง” มากขึ้น ทั้งคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ มีข้อแนะนำดังนี้

1. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นความเสี่ยงทำให้ตาแห้ง ที่พบได้บ่อยคือการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์และหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ทำให้อัตราการกะพริบตาตามธรรมชาติของคนเราซึ่งควรอยู่ที่ประมาณ 8-12 ครั้งต่อนาทีลดลง ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตา (อยู่ด้านบนของเปลือกตาด้านใน) ซึ่งจะต้องกะพริบลงมาทำความสะอาดกระจกตาและฉาบอยู่ลดน้อยลง

2. ถ้าทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ดูโทรศัพท์มือถือ หรือจ้องจอโทรทัศน์ แนะนำว่าควรจะต้องกะพริบตาบ่อย ๆ อย่างน้อย 8-12 ครั้งต่อนาที และจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ควรนั่งอยู่บริเวณที่มีลมธรรมชาติ ลมจากพัดลม หรือลมจากเครื่องปรับอากาศตกใส่บริเวณดวงตา

3. ตำแหน่งการวางจอคอมพิวเตอร์ ถ้ามีการวางจอคอมพิวเตอร์สูงกว่าระดับสายตา จึงต้องเปิดลูกตาและเปลือกตามากขึ้น ทำให้เกิดการระเหยของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาได้มาก แต่การวางจอคอมพิวเตอร์มุมที่ต่ำลงจะช่วยลดอาการตาแห้งลงได้

นอกจากนั้น บางคนอาจเกิดอาการตาแห้งจากผลข้างเคียงของยา เช่น คนที่กินยาแก้แพ้ หรือหยอดยาแก้แพ้บางชนิด ยาลดความดันเลือดสูงบางชนิด หรือยาต้านซึมเศร้า ก็อาจจะมีผลข้างเคียง ใครที่ใช้ยาอะไรเป็นประจำแล้วรู้สึกมีอาการเคืองตา ตาฝืด ตาแห้ง ก็ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้ยาว่าใช่ผลข้างเคียงของยาหรือไม่

หลังจากแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว สิ่งที่จะช่วยชดเชยน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาตามธรรมชาติได้ก็คือน้ำตาเทียม

ชนิดของน้ำตาเทียม

“น้ำตาเทียม” โดยทั่วไปมี 2 ชนิดตามรูปแบบการใช้งานตามบรรจุภัณฑ์ คือ ชนิดขวด (น้ำตาเทียมแบบรายเดือน) ชนิดหลอด (น้ำตาเทียมแบบรายวัน)

1. น้ำตาเทียมแบบรายเดือน (multiple-dose) มีลักษณะพิเศษคือ 1 ขวดสามารถใช้ได้ประมาณ 1 เดือน ที่อยู่ได้นานเพราะในขวดมีสารกันแบคทีเรียเติบโต เรียกง่าย ๆ ว่าสารกันบูด (preservatives) ข้อจำกัดของสารกันบูดที่ทำให้ยานี้อยู่ได้เป็นเดือนก็คือตัวสารนี่แหละที่อาจจะระคายเคืองตาได้ถ้ามีการหยอดบ่อยเกินไป โดยทั่วไปแนะนำให้หยอดวันละไม่เกิน 4 ครั้ง

2. น้ำตาเทียมแบบรายวัน (single-dose) น้ำตาเทียมชนิดนี้บรรจุในหลอดขนาดเล็ก ควรเปิดใช้ให้หมดแบบวันต่อวัน นั่นคือประมาณ 24 ชั่วโมงหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก เพราะเป็นน้ำตาเทียมบริสุทธิ์ปราศจากสารกันบูด (preservative-free) เหมาะกับผู้ที่แพ้สารกันบูด และน้ำตาเทียมชนิดนี้สามารถหยอดวันละหลายครั้งได้

ปัญหาเรื่องตาแห้ง สิ่งที่จะต้องจัดการก่อนคือ มองหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ยาที่กิน โรคประจำตัวบางชนิด ที่คุณหมอบอกว่าอาจจะทำให้ตาแห้งได้ เช่น โรคข้อบางชนิด โรคภูมิคุ้มกันตัวเองบางชนิด หรือคนที่กำลังได้รับเคมีบำบัด ก็จะมีผลทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาแห้งช่วงนั้นได้ รวมถึงการปรับพฤติกรรมแล้ว สามารถทำให้อาการตาแห้งดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียม

ปัจจุบัน บนสื่อสังคมออนไลน์มีข้อมูลมากมายแต่ควรรับฟังอย่างมีวิจารณญาณ เนื่องจากมีการทดสอบที่ไม่ได้มาตรฐานหลายเรื่อง

การทดสอบที่ไม่ได้มาตรฐานและการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจจะสร้างความสับสนและหวาดวิตกให้กับประชาชนที่ได้รับข่าวสาร ควรรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น แพทยสภา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย) ได้ตรวจสอบข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องและเชื่อถือได้

สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์

เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

กระบะชนต้นไม้

สังเวย 7 ศพ กระบะหักหลบรถรับ-ส่งนักเรียน พุ่งชนต้นไม้

รถกระบะเสียหลักจะชนรถตู้รับ-ส่งนักเรียน คนขับตัดสินใจหักหลบ ทำให้รถพุ่งชนต้นไม้ เสียชีวิต 7 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 4 คน

สลด! รถทัวร์พาผู้โดยสารกลับจากเที่ยวเบตง ชนต้นไม้ ดับ 8 ราย

รถทัวร์พาผู้โดยสารกลับจากเที่ยว อ.เบตง จ.ยะลา เสียหลักไถลลงร่องกลางถนนชนต้นไม้บนถนนสาย 41 อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เบื้องต้นเสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก

ตักบาตรปีใหม่

ปชช.ร่วมตักบาตรวันปีใหม่ 2568 เพื่อความเป็นสิริมงคล

ประชาชนร่วมกิจกรรมตักบาตร​ รับปีใหม่ 2568 เนืองแน่น​ “สุดาวรรณ” เผยตัวเลขสวดมนต์ข้ามปี กว่า 12 ล้านคน พร้อมเชิญชวนสักการะพระเขี้ยวแก้ว ถึง 14 ก.พ.นี้

ข่าวแนะนำ

ผบก.น.3 เผยมี 26 คนจีนเข้าคอร์สตำรวจอาสา กว่าครึ่งจ่ายเงินจริง

ผบก.น.3 เผยมีคนจีน 26 คน เข้าคอร์สตำรวจอาสา กว่าครึ่งจ่ายเงินจริง กำลังไล่สอบเส้นเงินเข้ากระเป๋าใคร ส่วนตำรวจที่ไปอบรมน่าจะได้เงินค่าจ้างจริง

ดีเอสไอประชุมนัดแรกร่วม ตร.นครบาล 1 คดี “นพ.บุญ”

ดีเอสไอรับคดี “นพ.บุญ” กับพวกเป็นคดีพิเศษ เปิดประชุมนัดแรกร่วมตำรวจนครบาล 1 แย้มรู้พิกัด “หมอบุญ” ที่หลบหนีแต่ยังไม่ขอเปิดเผย

คนร้ายวางระเบิดตำรวจตั้งด่าน เจ็บ 6 นาย

คนร้ายวางระเบิดตำรวจขณะตั้งด่าน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บาดเจ็บ 6 นาย เด็ก 3 ขวบ เจ็บ 1 ราย เชื่อสร้างสถานการณ์ ก่อนครบรอบ 21 ปี ไฟใต้