บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อความแนะนำอาหารเสริมที่สามารถช่วยแก้อาการหนังตาตกได้ จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบัน ไม่มีอาหารเสริมใด ๆ แก้อาการหนังตาตกได้
ภาวะ “หนังตาตก” เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการดึงเปลือกตา โดยทั่วไปที่เราเห็นเปลือกตามีร่อง 2 ชั้น เป็นการทำงานของกล้ามเนื้อกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อทางการแพทย์ว่ากล้ามเนื้อที่ใช้เปิดหนังตา (levator muscle) ทำหน้าที่ดึงเปลือกตาทั้ง 2 ข้าง
ดังนั้น ถ้ากรณีที่มีปัญหากับการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้เปิดหนังตา ไม่ว่าจะเป็นจากตัวกล้ามเนื้อตาเองหรือเป็นจากระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาหนังตาตก การรักษาเรื่องนี้ก็คงต้องรักษาตามสาเหตุ
วิธีการรักษาหนังตาตก ?
“หนังตาตก” แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
กลุ่ม 1. หนังตาตกแต่กำเนิด เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ดึงเปลือกตา
กลุ่ม 2. หนังตาตกตอนโต อาจจะมีโรคทางระบบร่างกายบางชนิดที่พบบ่อย เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis : MG) ที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายอ่อนแรง เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตาเป็นกล้ามเนื้อเล็ก ๆ อาจจะมีผลกระทบก่อนกล้ามเนื้อบริเวณอื่น ซึ่งหากเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาก็จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ocular Myasthenia Gravis) ภาวะที่เปลือกตาหรือกล้ามเนื้อยึดลูกตาอ่อนแรงหลังจากใช้งานไประยะหนึ่งก็เลยทำให้หนังตาตก
กลุ่ม 3. หนังตาตกในผู้สูงอายุ กล้ามเนื้อบริเวณดวงตามีการหลุดจากตำแหน่งที่ควรจะเป็นในคนสูงอายุ ที่มองเห็นชัดคือหนังตาหย่อน
การรักษา “หนังตาตก” ขึ้นกับสาเหตุที่เป็น ถ้าเป็นแต่กำเนิดก็จะต้องผ่าตัดเพื่อดึงรั้งเปลือกตาขึ้นไปข้างบน
ส่วนหนังตาตกเป็นตอนโตอาจเกิดจากโรคของระบบร่างกายต้องให้แพทย์วินิจฉัยก่อน และการรักษาก็คงต้องรักษาโดยการใช้ยาไม่ใช่อาหารเสริมแน่นอน
ในผู้สูงอายุที่มีหนังตาตก การผ่าตัดโดยการตัดหนังตาที่เกินแล้วเย็บซ่อมเปลือกตาให้ใหม่ก็จะกลับมาหายหนังตาตก
“หนังตาตก” ไม่รักษาจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ?
กรณี “หนังตาตก” ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา
1. ส่งผลกับภาพลักษณ์ บุคลิกภาพ และความสวยงาม
2. มีผลกระทบต่อการมองเห็นได้ เช่น ในผู้สูงอายุและคนที่หนังตาตกมาก ๆ อาจจะปิดบังการมองเห็นได้
3. ถ้าหนังตาตกลงมาจนบังกลางตาดำจะทำให้การมองเห็นไม่ถนัด โดยเฉพาะในเด็กที่ประสาทตายังพัฒนาไม่เต็มที่ (เด็กอายุตั้งแต่ต่ำกว่า 12-15 ปี ลงไป) ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาของประสาทตา การที่มีหนังตาตกทำให้แสงหรือภาพเข้าตาไม่ได้ก็จะทำให้เกิดภาวะที่เราเรียกว่า “ตาขี้เกียจ”
ตาขี้เกียจ (Amblyopia หรือ Lazy Eye) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีระดับการมองเห็นผิดปกติ แต่จากการตรวจตาทั่วไปไม่พบสิ่งปกติ เนื่องจากประสาทตาไม่ได้รับภาพคมชัดในการพัฒนาเลย ก็จะทำให้ประสาทตาไม่ได้รับการพัฒนาและต่อให้ผ่าตัดรักษาในตอนหลังก็จะไม่สามารถทำให้โรคตาขี้เกียจนี้หายไปได้
กรณีหนังตาตกในเด็ก นอกจากหนังตาบังกลางตาดำแล้ว กรณีบังบ้างแต่บังไม่ถึงกลางตาดำก็อาจจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะสายตาเอียง (Astigmatism) ก็จะทำให้การมองเห็นเด็กแย่ลงแล้วก็นำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจได้เช่นกัน
วิธีสังเกตอาการหนังตาตก ?
โดยทั่วไปถ้านั่งมองหน้ากระจกดี ๆ จะเห็นว่าเปลือกตาบนคนธรรมดาจะลงมาบังบริเวณขอบตาดำด้านบนประมาณไม่เกิน 1 มิลลิเมตร ก็คือมาแตะที่บริเวณขอบตาดำด้านบนหรือลงมาปิดไม่เกิน 1 มิลลิเมตร
ถ้าเปลือกตาข้างใดข้างหนึ่งลงมาบังขอบตาดำด้านบนเกินกว่า 1 มิลลิเมตร หรือ 2 ข้างไม่เท่ากันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเกิดภาวะหนังตาตก
สำหรับในเด็ก ถ้าอยากรู้ว่าหนังตาตกนั้นเป็นรุนแรงแค่ไหน ถึงขนาดบังการมองเห็นจะทำให้เกิดความพิการจากโรคตาขี้เกียจหรือไม่ มีวิธีทดสอบง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะทดสอบลูกดู ก็คือนำไฟฉายส่องห่างจากบริเวณหน้าของเด็กประมาณ 1 เมตร หรือ 75 เซนติเมตร แล้วส่องไปที่บริเวณระหว่างคิ้วแล้วดูเงาไฟฉายที่ตกกลางตาดำทั้ง 2 ข้าง ถ้าเงาไฟฉายนั้นถูกบังโดยเปลือกตาที่ตกลงมา อันนี้เป็นภาวะรีบด่วนที่จะต้องรีบไปพบจักษุแพทย์ แสดงว่าตาข้างนั้นแสงหรือภาพที่มีความชัดเจนไม่ได้เข้าตาเด็กเลยอาจจะทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจเพราะว่าไม่เกิดการพัฒนาในเด็กอายุต่ำกว่า 12-15 ปี
ดังนั้น อาหารเสริมสารพัดประโยชน์ที่แชร์กันบนสื่อสังคมออนไลน์ “ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ”
การรักษาอาการผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย ควรได้รับการวินิจฉัยสาเหตุที่แน่ชัดเพื่อการรักษาอย่างถูกต้อง
สัมภาษณ์โดย พงศ์อิทธิ์ เชิดชูวงศ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : อาหารเสริมแก้อาการหนังตาตก จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter