แสงแดดทำอันตรายกับดวงตาได้แค่ไหน แว่นกันแดดจำเป็นหรือไม่ และควรเลือกเลนส์แว่นกันแดดอย่างไร ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
“แสงแดด” สามารถทำอันตรายกับดวงตาได้ทุกส่วน
แสงที่เป็นอันตรายกับดวงตาอย่างมาก คือแสงที่มีช่วงความยาวคลื่นที่เรียกว่า “อัลตราไวโอเลต” หรือที่คุ้นเคยกันคือ แสงยูวี (Ultra Violet) ที่มีช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่ 100 ถึง 400 นาโนเมตร
ในแสงยูวียังแบ่งออกเป็นโซนของแสงยูวีเอ ยูวีบี ยูวีซี (มีช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่ 100 นาโนเมตรขึ้นไป)
แสงยูวีซี (UV-C) มักจะไม่พบในแสงแดดธรรมชาติทั่วไป แต่นำไปใช้ทางการแพทย์ เช่น นำมาทำเลสิกผ่าตัดแก้ไขสายตา
แสงยูวีเอ ยูวีบี ทำอันตรายกับดวงตาได้อย่างไร
รังสีอัลตราไวโอเลต ทั้งยูวีเอ (UV-A) และยูวีบี (UV-B) คลื่นแสงทั้ง 2 ชนิดนี้มีอันตรายต่อดวงตาค่อนข้างมากและพบอยู่ในธรรมชาติ
โดยยูวีเอ (UV-A) จะมีความสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในบริเวณดวงตาได้ค่อนข้างสูงมาก และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ
สำหรับยูวีบี (UV-B) มีความสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในเนื้อเยื่อของดวงตาต่ำกว่ายูวีเอ ก็จะทำให้เกิดอันตรายบริเวณพื้นผิวของดวงตา ทำให้เยื่อบุบริเวณดวงตาหนาตัวหรือเสื่อมสภาพ กลายเป็นโรค “ต้อลม” พอลุกลามเข้าไปถึงบริเวณตาดำได้ก็จะเรียกโรคนี้ว่า “ต้อเนื้อ” และเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดโรค “ต้อกระจก” หรือเลนส์ตาเสื่อมก่อนเวลาอันควร
ป้องกันดวงตาจากแสงยูวีเอ แสงยูวีบี ได้อย่างไร
การป้องกันดวงตาจากแสงยูวีเอ แสงยูวีบี เริ่มจากการใช้ร่มกันแดด หรือหมวกที่มีปีกบังด้านหน้า และการสวมแว่นกันแดด สามารถป้องกันแสงจ้าเกินไปที่จะเข้าสู่ดวงตา รวมทั้งแสงที่อยู่ในช่วงความยาวคลื่นต่าง ๆ เป็นอันตรายดวงตาได้
สำหรับแว่นกันแดด ควรเป็นแว่นที่สามารถกรองรังสีอัลตราไวโอเลต ตามมาตรฐานแล้วจะต้องกรองรังสียูวีเออย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์ และกรองรังสียูวีบีอย่างน้อย 99 เปอร์เซ็นต์
แว่นกันแดดบางชนิดที่ไม่ได้มาตรฐาน ถึงแม้จะมีสีเข้ม สวมใส่แล้วรู้สึกว่าแสงจ้ามาก ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแว่นตากันแดดชนิดนั้นว่ามีคุณภาพลดปริมาณแสงเข้าตาได้หรือไม่
การใช้แว่นกันแดดต้องดูที่มาตรฐาน ดังนี้
1. การมองด้วยตาเปล่า อาจจะบอกไม่ได้ว่าความสามารถในการกรองรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นอย่างไร ต้องใช้เครื่องมือตรวจวัดพิเศษที่มีอยู่ในร้านแว่นตา หรือเวลาไปพบจักษุแพทย์อาจนำแว่นกันแดดไปขอตรวจสอบได้
2. สัญลักษณ์ CE แว่นตากันแดดสามารถกรองรังสีอัลตราไวโอเลตได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
การเลือกใช้เลนส์แว่นกันแดดสีต่าง ๆ
เพื่อความปลอดภัย ควรเลือกใส่แว่นกันแดดด้วยเลนส์ที่เหมาะสม ดังนี้
1. เลนส์แว่นสีเทา เหมาะกับการใช้งานกลางแจ้ง
2. เลนส์แว่นสีโทนเหลือง เหมาะกับการใช้กรองแสงสะท้อนหิมะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับดวงตาได้มาก
3. ไม่ควรใส่แว่นกันแดดเลนส์สีโทนเหลืองขับรถยนต์ เพราะจะทำให้การมองสัญญาณไฟจราจรสีเหลืองและแดงผิดเพี้ยนไป
สำหรับคนที่สายตาสั้นแต่ต้องการใส่แว่นเพื่อปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลตด้วย ก็ควรเลือกเลนส์โฟโต้โครมิก (Photochromic lens) หรือเลนส์ทรานซิชั่น (Transition lens) เป็นเลนส์ที่จะเปลี่ยนสีให้เข้มขึ้นเมื่ออยู่ในที่สว่าง และสีของเลนส์จะกลับมาอ่อนลงอีกครั้งเมื่อเราเข้าสู่ที่ร่ม เลนส์แว่นจะช่วยกรองแสงและป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้
เดิมเชื่อว่าการใส่แว่นกันแดดเพราะตามแฟชั่น แต่จริง ๆ แล้ว แว่นกันแดดถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยป้องกันดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นสาเหตุของโรคตาต่าง ๆ ได้
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : แสงแดดกับการปกป้องดวงตา
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter