บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์ข้อความเรื่องนักศึกษาหนุ่มวัย 19 ปวดขาซ้าย ก่อนเป็นลมหมดสติ หมอตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตันในปอด คาดเหตุเพราะนั่งเล่นเกมนานเกินไป เรื่องที่แชร์เตือนกันนี้จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นพ.สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
หลอดเลือดดำอุดตันที่มีความเสี่ยงจากการนั่งนาน มีความรุนแรงมากจนหมดสติ หรือบางคนอาจจะเสียชีวิตได้ เป็นเรื่องจริง แต่ส่วนอื่น ๆ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ จึงไม่ควรแชร์ต่อทั้งหมด
โรคหลอดเลือดดำอุดตัน มีอาการอะไรบ้าง ?
คนในข่าวที่แชร์กันมา มีอาการขาบวมแล้วก็หมดสติ เป็นอาการนำของหลอดเลือดดำอุดตัน
“หลอดเลือดดำอุดตัน” เกิดได้หลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นหลอดเลือดบริเวณขา เพราะว่าคนเรานั่งนาน
เมื่อมีหลอดเลือดอุดตัน เลือดและน้ำเหลืองไปไม่ได้ จะทำให้ส่วนใต้ของหลอดเลือดที่อุดตันบวม
ที่ร้ายแรงมากก็คือ เมื่อการอุดตันเกิดขึ้นที่ปอด ลิ่มเลือดที่อุดตันอาจจะสลายไปได้เอง
บางคนถ้าโชคร้าย เพราะลิ่มเลือดไม่สลายเอง แต่ลิ่มเลือดหลุดมาจากหลอดเลือดอุดตันอยู่ ลอยไปเรื่อย ๆ ตามทางของหลอดเลือด สุดท้ายไปที่หลอดเลือดใหญ่ขึ้น ๆ หลอดเลือดดำในท้อง ทรวงอก ไปที่หัวใจห้องบนขวา แล้วก็ห้องล่างขวา จากนั้นจะถูกสูบฉีดไปที่ปอด ลิ่มเลือดก็จะไปอุดตามหลอดเลือดในปอด
ถ้าลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดใหญ่ในปอด ก็จะทำให้เลือดกลับไปหัวใจลดลง ส่งผลให้มีความดันต่ำ แล้วก็หมดสติได้
หลอดเลือดดำอุดตัน มีสาเหตุความเสี่ยงมาจากอะไร ?
ความเสี่ยงของหลอดเลือดดำอุดตัน หลัก ๆ มีอยู่ 3 ข้อ ดังนี้
1. เลือดไหลเวียนช้า (Vascular Stasis) ก็คือการอยู่นิ่ง ๆ นาน
2. มีภาวะที่ทำให้เลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ
3. มีหลอดเลือดที่ผิดปกติ หรือหลอดเลือดมีแผลอยู่
ในเรื่องที่แชร์กันบอกว่า “นั่งเล่นเกมนาน ๆ” พบว่าการนั่งเล่นเกมหรือนั่งทำอะไรนาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนท่าทาง เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่จะทำให้เกิดหลอดเลือดดำอุดตัน
บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า อีโคโนมีคลาสซินโดรม (Economy Class Syndrome) คือนั่งอยู่บนเครื่องบินนาน ๆ โดยไม่ได้ขยับ ซึ่งเป็นความเสี่ยงอีกข้อหนึ่งเช่นกัน เคยมีกรณีผู้ป่วยบางส่วนตรวจไปจนหมดแล้ว ก็ไม่พบสาเหตุอื่น ๆ นอกจากการนั่งนาน ๆ ดังนั้น อย่าพยายามนั่งนาน ควรลุกเปลี่ยนท่าเพื่อลดความเสี่ยงเป็นระยะ
ดื่มน้ำบ่อย ๆ ป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน ?
การดื่มน้ำบ่อย ๆ อาจจะไม่ได้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันโดยตรง แต่การดื่มน้ำบ่อย ๆ อาจจะเพิ่มปริมาณเลือด เพิ่มปริมาณน้ำในร่างกาย โอกาสที่ลิ่มเลือดอุดตันอาจจะลดลง
การดื่มน้ำมากและบ่อย ทำให้ต้องลุกไปฉี่ เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่งเป็นการเดินเคลื่อนไหวร่างกาย (ลดปัญหาการนั่งนานได้)
นอกจากเรื่องนั่งนานแล้ว มีการพูดถึงอีก 5 โรค ?
1. โรคกล้ามเนื้อหดตึง กล้ามเนื้อคนเราที่นั่งอยู่ท่าเดิมนาน ๆ เวลาลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ อาจจะมีอาการเจ็บอาการปวด หรือบางคนนั่งนานมาก ๆ อาจมีข้อติด ซึ่งอาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการปวด หรือการล้มของผู้สูงอายุ แต่อาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริม
2. สมองตื้อ เรื่องนี้ไม่น่าจะจริง ไม่ว่าจะนั่งหรือนอน เลือดที่ไปเลี้ยงสมองควรจะต้องเท่า ๆ กัน เพียงแต่ว่านั่งนาน ๆ แล้วลุกขึ้นยืน หรือเปลี่ยนท่าทาง บางคนอาจจะมีอาการรู้สึกมึน ๆ ศีรษะ สืบเนื่องจากเลือดไปกองอยู่บริเวณส่วนล่างของร่างกาย กลับเข้าสู่หัวใจไม่ทันก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
3. ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง การนั่งนาน ๆ จะทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวลดลง ระบบขับถ่ายก็เพี้ยนไป อาจจะมีท้องอืด หรือบางคนมีอาการท้องผูกขึ้นมาได้
4. นั่งนานแผ่นหลังแย่ อาจจะถูกต้องครึ่งเดียว โดยหลักแล้วการนั่งหรือยืน กระดูกสันหลังรับน้ำหนักร่างกาย แล้วกระจายน้ำหนักสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ขึ้นกับท่าทางการนั่งมากกว่า ถ้านั่งหลังค่อมหลังโก่งตลอด ก็จะทำให้แรงที่กดสู่กระดูกสันหลังเบี้ยวไป ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้
5. นั่งนานเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง เรื่องนี้ข้อมูลไม่แน่ชัด เพราะจากข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่ได้บอกว่าการนั่งนาน ๆ เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็ง
คำแนะนำเพิ่มเติม ?
หลอดเลือดดำอุดตันที่เกิดจากการนั่งนาน เป็นโรคที่พบได้ แต่ว่าไม่บ่อยเท่ากับฝั่งตะวันตก
ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ชวนให้สงสัยก็คือ อยู่ดี ๆ มีขาบวม ปวดขึ้นมาข้างเดียว แนะนำให้มีการเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนท่าทางขยับแขนขยับขาบ้าง อาจจะ1-2 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้นต้องลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : นั่งเล่นเกมนาน ทำให้หลอดเลือดดำอุดตัน จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter