มะเร็งเต้านมเกิดในผู้ชายได้อย่างไร สามารถตรวจคัดกรองได้ก่อนหรือไม่ และจะมีวิธีการสังเกตอย่างไร
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา อาจารย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
“มะเร็งเต้านม” เป็นโรคความผิดปกติของเซลล์ที่ท่อน้ำนม ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ พบในเพศหญิง และมีส่วนน้อยที่พบในเพศชาย
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นก็คือ การเจริญเติบโตที่ควบคุมไม่ได้ของเซลล์และกลายเป็นเนื้อร้าย
เนื้อร้ายจะค่อย ๆ เจริญเติบโตจากระยะที่เป็นเล็ก ๆ อาจจะ 1 มิลลิเมตร 2 มิลลิเมตร และค่อย ๆ เป็นก้อนขนาด 1 เซนติเมตร 2 เซนติเมตร
ความสำคัญก็คือ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือไม่ตระหนักดี รอยโรคนั้นก็จะมีการกระจายแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองและกระจายเข้าสู่อวัยวะภายใน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
มะเร็งเต้านมพบในผู้ชายด้วยหรือ ?
“มะเร็งเต้านม” เป็นเรื่องของเซลล์เต้านมที่ผู้ชายก็มีเหมือนกับผู้หญิง และสามารถพบมะเร็งเต้านมในผู้ชายได้ แต่น้อย
เมื่อไหร่ก็ตามที่พบมะเร็งเต้านมในผู้ชาย ต้องระมัดระวังว่าอาจจะมีความผิดปกติทางพันธุรรมของมะเร็งเต้านมทางด้านยีน ซึ่งยีนที่เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม เรียกว่ายีน BRCA1, BRCA2 (บีอาร์ซีเอวัน, บีอาร์ซีเอทู)
ลักษณะของมะเร็งเต้านมที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เช่น
1. ผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งเต้านม และมีญาติสายตรงผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมด้วย
2. ผู้ป่วยหญิงเป็นมะเร็งเต้านมอายุน้อย (หมายถึงอายุน้อยกว่า 50 ปีป่วยเป็นมะเร็งเต้านม หรือโดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 45 ปีป่วยเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว)
3. วันหนึ่ง ไปพบแพทย์ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกันทั้งสองข้าง เป็นสิ่งที่น่าสงสัยว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรม
4. ผู้ป่วยหญิงเป็นมะเร็งเต้านม แต่มีญาติสายตรง 2 คนเป็นมะเร็งเต้านมก่อนหน้านี้แล้วยิ่งต้องระวังว่าเกิดจากพันธุกรรมหรือไม่
5. ผู้ป่วยหญิงเป็นมะเร็งเต้านม มีญาติสายตรง 1 คนเป็นมะเร็งเต้านม และมีญาติอีก 1 คนเป็นมะเร็งรังไข่ กรณีอย่างนี้แพทย์จะตรวจว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับพันธุกรรมหรือไม่
“ผู้ชาย” สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเหมือนผู้หญิงหรือไม่
สำหรับผู้ชาย ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการคัดกรองมะเร็งเต้านมตามช่วงอายุเหมือนผู้หญิง
เพราะฉะนั้น การค้นพบมะเร็งเต้านมในผู้ชายระยะแรกเริ่ม ระยะที่เป็นน้อย ๆ ระยะศูนย์ จะต้องทำการตรวจคัดกรอง
ดังนั้น มะเร็งเต้านมในผู้ชายจึงพบได้ขณะที่มีอาการผิดปกติไปแล้ว
ด้วยสรีระของผู้ชายที่เนื้อเต้านมมีน้อย เวลาผู้ชายที่เป็นมะเร็งเต้านมและคลำได้ก้อนระยะมักจะสูงกว่าของผู้หญิง คืออาจจะเป็นระยะ 2 หรือมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองแล้ว
การรักษามะเร็งเต้านมในผู้ชายวิธีการไม่แตกต่างจากการรักษามะเร็งเต้านมผู้หญิง
สำหรับผู้ชายที่มีความผิดปกติและสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านม ถ้ามีอาการหรือรู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติ เช่น คลำได้ก้อน หรือมีน้ำออกจากหัวนม ควรไปพบแพทย์
ถ้าสังเกตว่าในครอบครัวมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม 2 คน หรือมีญาติสายตรง 1 คนเป็นมะเร็งเต้านม และ 1 คนเป็นมะเร็งรังไข่ ซึ่งรวมถึงญาติสายตรงที่เป็นมะเร็งเต้านมอายุน้อย (ต่ำกว่า 50 ปี หรือต่ำกว่า 45 ปี) หรือมีญาติสายตรงผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านม จึงควรระมัดระวังตัวว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรมของยีนมะเร็งเต้านม และไปพบแพทย์เฉพาะทางมะเร็งเต้านม
“มะเร็งเต้านม” สามารถเกิดได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ควรตรวจคัดกรอง หมั่นสังเกตความผิดปกติ และรีบรักษาตั้งแต่ตรวจพบ การรักษาจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : มะเร็งเต้านมในผู้ชาย
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : การรักษามะเร็งเต้านม
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter