บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์เตือนว่า ห้ามนำอาหารร้อน ๆ แช่ตู้เย็นทันที ไม่ใช่ถึงขนาดทำให้ตู้เย็นพัง แต่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่อาหารจะเป็นพิษ และท้องเสียได้
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.ปิติยา กมลพัฒนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อุณหภูมิของอาหารร้อน ทำให้การถ่ายเทอุณหภูมิในตู้เย็นไม่ดีพอ อาจทำให้อุณหภูมิของอาหารรอบ ๆ สูงขึ้น เกิดสภาวะที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
การนำอาหารร้อนปริมาณมากเข้าตู้เย็น ส่งผลให้อุณหภูมิภายในตู้เย็นสูงขึ้น ความเย็นน้อยลง เชื้อโรคที่ถูกชะลอการเจริญเติบโตสามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งสอดคล้องกับอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ที่เรียกว่าโซนอันตราย ช่วงอุณหภูมิอันตรายคือ 4-60 องศาเซลเซียส จุลินทรีย์แบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้รวดเร็ว ถ้าบริโภคอาหารที่มีจุลินทรีย์ก่อโรคก็จะเกิดอันตรายได้
ข้อ 1. อาหารปรุงสุกแล้วควรกินทันที หรือเก็บนอกตู้เย็นไม่เกิน 2 ชั่วโมง ?
เรื่องนี้จริง การกินอาหารปรุงสุกใหม่เชื้อจุลินทรีย์น้อยลง จะทำให้ปลอดภัยจากการบริโภค
หากเก็บอาหารนอกตู้เย็นเกิน 2 ชั่วโมง ควรอุ่นร้อน 60 องศาเซลเซียสตลอดเวลา
ถ้าเกินกว่า 2 ชั่วโมง จุลินทรีย์เกิดการแบ่งตัวในปริมาณมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเกิดโรคกับผู้บริโภคได้
ข้อ 2. กรณีอาหารไม่เหมาะอุ่นร้อนเป็นเวลานาน ควรนำอาหารเก็บในตู้เย็น และอุ่นซ้ำที่อุณหภูมิ 74 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยใช้เวลาอุ่นอย่างน้อย 15 วินาที จริงหรือ ?
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แนะนำมากกว่า 74 องศาเซลเซียส นานกว่า 1 นาที ถือว่าปลอดภัย
ข้อ 3. อาหารปรุงสุกวางไว้นอกตู้เย็นเกิน 4 ชั่วโมง โดยไม่มีการอุ่นซ้ำ และไม่มีการแช่เย็น ไม่ควรนำมากิน ?
อาหารที่วางไว้นอกตู้เย็น (อุณหภูมิห้อง) นานเกิน 4 ชั่วโมง ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เริ่มต้นสูง ถ้ากินเข้าไปมีโอกาสเกิดอาหารเป็นพิษได้
ข้อ 4. ดูแลคุณภาพและความหนาแน่นของตู้เย็นอยู่เสมอ อย่าให้แน่นเกินไปจนเย็นไม่พอ ?
การนำอาหารใส่ไว้ในตู้เย็นแน่นเกินไป ส่งผลให้การหมุนเวียนอากาศภายในตู้เย็นไม่ดี อุณหภูมิไม่สม่ำเสมอ บางจุดอาจมีอุณหภูมิเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์
ข้อ 5. อาหารที่ต้องการเก็บไว้นานกว่า 6 เดือน ควรแยกใส่ตู้แช่แข็งโดยเฉพาะ ?
การแช่แข็งอาหารจะหยุดยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาไว้ได้นาน แต่การเก็บอาหารแช่เย็นไว้จุลินทรีย์ก็ยังสามารถเจริญเติบโตได้
กรณีที่ต้องการเก็บอาหารไว้เป็นเวลานาน ควรนำอาหารใส่ภาชนะปิดสนิทให้เรียบร้อยและแช่ไว้ในช่องแช่แข็ง เพราะโดยทั่วไปช่องแช่แข็งในตู้เย็นมีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส
ข้อ 6. ไม่ละลายอาหารแช่แข็ง โดยวางอาหารไว้อุณหภูมิห้อง แต่ควรละลายอาหารโดยนำออกแช่ในช่องปกติ 2-3 ชั่วโมง หรือใช้โปรแกรมเฉพาะเตาไมโครเวฟ
การนำอาหารแช่แข็งละลายที่อุณหภูมิห้อง จะทำให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตเร็วขึ้น ถ้าต้องการละลายน้ำแข็งก็ควรนำอาหารออกจากช่องแช่แข็งไว้ในตู้เย็นช่องปกติระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง
การจัดเก็บอาหารในตู้เย็น ควรเริ่มต้นด้วยการทำให้จำนวนจุลินทรีย์น้อยที่สุด เช่น นำอาหารไปอุ่นก่อนที่จะทำให้เย็นทันที อาจแช่น้ำเย็นหรือถังน้ำแข็ง ก่อนนำเข้าตู้เย็น เก็บไว้ในภาชนะบรรจุมีฝาปิด
ถ้าอาหารมีปริมาณมาก ควรแบ่งบรรจุภาชนะขนาดเล็กที่มีความลึกไม่เกิน 3 นิ้ว
ถนอมอาหาร กินอาหารอย่างถูกวิธี ช่วยเสริมสุขภาพดี ลดความเสี่ยงได้
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ห้ามนำอาหารร้อน แช่ตู้เย็นทันที จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter