Plandemic ปฐมบทสารคดีลวงโลก เบื้องหลังไวรัสโควิด-19

20 เมษายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


เมื่อปี 2020 ขณะที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก เกิดปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ที่มีการแชร์คลิปและข้อมูลจากสารคดีขนาดสั้นเรื่อง Plandemic กันอย่างแพร่หลาย แต่กลายเป็นว่า เนื้อหาเหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 และการโจมตีนโยบายรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างไม่ถูกต้อง กลายเป็นต้นทางแห่งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเผยแพร่ทางโลกไซเบอร์จนถึงทุกวันนี้

Plandemic เป็นชุดสารคดีไตรภาคที่พยายามอ้างว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่มีการวางแผนล่วงหน้า โดยสารคดีตัวปฐมบทได้แก่ Plandemic : The Hidden Agenda Behind Covid-19 สารคดีความยาว 26 นาที เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2020


รูปแบบของ Plandemic 1 เน้นเนื้อหาจากบทสัมภาษณ์ระหว่าง มิกกี วิลลิส อดีตนายแบบและนักแสดงที่ผันตัวมาเป็นนักสร้างสารคดีแนวทฤษฎีสมคบคิด และ จูดี ไมโควิตส์ นักวิจัยผู้มีแนวคิดต่อต้านวัคซีน

Fact Checker หลายสำนักได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคำกล่าวอ้างของ จูดี ไมโควิตส์ ในหลายประเด็น แบ่งเป็นหัวข้อสำคัญ ๆ ดังนี้

  1. จูดี ไมโควิตส์ ถูกจำคุกเพื่อปิดปาก – ไม่จริง

ในช่วงต้นของสารคดี จูดี ไมโควิตส์ อ้างว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและจำคุกโดยไม่มีข้อหา เพื่อเป็นการปิดปากไม่ให้เธอเปิดโปงแผนลับที่วงการแพทย์พยายามปกปิด โดยอ้างว่าเป็นฝีมือของ แอนโทนี เฟาซี อดีตผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIAID)


แต่แท้จริงแล้ว จูดี ไมโควิตส์ เคยถูกจำคุกเป็นเวลา 5 วันเมื่อปี 2011 ในข้อหาขโมยคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และทรัพย์สินอื่น ๆ จากสถาบัน Whittemore Peterson Institute for Neuro-Immune Disease ในรัฐเนวาดา โดยก่อนหน้านี้ สถาบันได้ไล่เธอออก หลังพบว่าเธอทำการดัดแปลงผลวิจัยที่อ้างว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อรีโทรไวรัสกับโรคล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome : CFS) จนวารสารการแพทย์ Science สั่งถอนงานวิจัยในเวลาต่อมา

  1. ไวรัสโควิด-19 พัฒนาจากไวรัสโรคซาร์สในเวลาเพียงทศวรรษเดียว – ไม่จริง

แม้ไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 จะมีชื่อที่คล้ายกับไวรัส SARS-CoV-1 ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส แต่ไวรัส SARS-CoV-2 ไม่ได้พัฒนามาจากไวรัส SARS-CoV-1 ตามที่ จูดี ไมโควิตส์ กล่าวอ้าง เนื่องจากมีพันธุกรรมที่คล้ายกันเพียง 79% โดยการสำรวจพบว่าไวรัสโควิด-19 น่าจะมีที่มาจากไวรัสโคโรนาในค้างคาว ซึ่งมีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมกว่า 90%

  1. ไวรัสโควิด-19 เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรม – ไม่จริง

จากการตรวจสอบโครงสร้างพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไม่พบหลักฐานว่าไวรัสโควิด-19 การเกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมโดยฝีมือมนุษย์ และน่าจะเป็นไวรัสที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

แนวคิดต้นกำเนิดไวรัสโควิด-19 ที่แวดวงวิทยาศาสตร์ให้การยอมรับ คือ 1. เกิดการระบาดหลังการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน 2. ไวรัสที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หลุดออกจากห้องปฏิบัติการระหว่างการทดลอง

  1. การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 – ไม่จริง

จูดี ไมโควิตส์ อ้างว่า สาเหตุที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในประเทศอิตาลี มีสาเหตุจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีส่วนประกอบของไวรัสโคโรนา และมีงานวิจัยพบว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน 36%

อย่างไรก็ดี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตาย จะใช้ไวรัส Influenza A หรือ B ในการผลิตวัคซีน แต่ไม่มีการใช้ไวรัสโคโรนาในการผลิตตามที่กล่าวอ้าง

ส่วนงานวิจัยที่อ้างว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 นำมาจากงานวิจัยที่เผยแพร่ช่วงต้นปี 2019 เพื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจชนิดต่าง ๆ ระหว่างผู้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่และผู้ไม่ฉีดวัคซีน

ผลวิจัยพบว่า ขณะที่ผู้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่น้อยกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน แต่กลับติดเชื้อไวรัสโคโรนามากกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน โดยมีสัดส่วน odds ratios ที่ 1.36

อย่างไรก็ดี การสำรวจดังกล่าวทำขึ้นช่วงปี 2017-2018 หรือ 2 ปีก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 และไวรัสโคโรนาที่กล่าวถึงคือไวรัสโคโรนา 4 สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดตามฤดูกาล ดังนั้นงานวิจัยที่กล่าวอ้างจึงไม่เกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด

  1. ยา Hydroxychloroquine รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ดี – ไม่จริง

แม้มีงานวิจัยเพื่อพิสูจน์สรรพคุณของ Hydroxychloroquine ยารักษาโรคมาลาเรียเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่การทดลองจนถึงปัจจุบันไม่พบหลักฐานว่า Hydroxychloroquine มีประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างใด

  1. การสวมหน้ากากทำให้ไวรัสในร่างกายกลับมากำเริบ – ไม่จริง

ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากในที่สาธารณะ เพราะอาจต้องใช้เวลานานถึง 14 วัน ก่อนที่ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะแสดงอาการ ดังนั้นจุดประสงค์หลักของการสวมหน้ากาก คือการป้องกันการแพร่เชื้อโรคต่อชุมชนโดยไม่ตั้งใจ

ริชาร์ด เพลเทียร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์-แอมเฮิร์สต์ ชี้แจงว่า การสวมหน้ากากไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานของไวรัสในร่างกาย เป็นแค่การป้องกันเชื้อโรคจากละอองเสมหะเข้าสู่ปากและรูจมูก เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็ควรรู้ รวมถึงตัว ดร.จูดี ไมโควิตส์ เช่นกัน

การระบาดของ Plandemic

แม้จะเต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่การเผยแพร่ Plandemic : The Hidden Agenda Behind Covid-19 เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2020 ก็ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสนับสนุนจากกลุ่มเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดทั้ง QAnon และ อเล็กซ์ โจนส์

ชื่อของ จูดี ไมโควิตส์ กลายเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกค้นหาทาง Google มากที่สุดติดต่อกัน 2 วัน และส่งผลให้คำว่า Plandemic กลายเป็นคำที่ถูกใช้บน X (Twitter) เพิ่มขึ้นกว่า 155%

เนื่องจากมีข้อกล่าวอ้างที่ต้องตรวจสอบหลายประการ กว่าแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จะลบ Plandemic ออกไปจากระบบได้ สารคดีสุดอื้อฉาวก็ทำยอดวิวรวมกันหลายสิบล้านวิวแล้ว และยังคงหลงเหลือบนโลกไซเบอร์ในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้นและข้อความที่อ้างมาจากสารคดี

สาเหตุที่สารคดีฉาวเป็นที่นิยม

แม้บุคลากรในวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสาธารณสุข จะร่วมกันประณามการสร้างสารคดี Plandemic ในข้อหาเป็นภัยสังคม แต่สาเหตุที่สารคดีเป็นที่นิยม ได้รับการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารว่า สารคดีสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการผลิตวิดีโอให้มีคุณภาพระดับมืออาชีพ ทั้งการถ่ายภาพ การตัดต่อ ดนตรีประกอบ ซึ่งส่งผลต่อการยอมรับผู้ชมทั้งสิ้น

การที่สารคดีออกมาในช่วงที่วงการวิทยาศาสตร์ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับที่มาของไวรัส และเป็นช่วงที่สาธารณชนต้องการคำตอบที่ชัดเจน รวมถึงความต้องการหาคนรับผิดชอบ คำตอบที่ชัดเจนใน Plandemic คือสิ่งที่ผู้คนในสังคมเฝ้ารอ แม้จะไม่มีเรื่องที่พิสูจน์ได้เลยก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า ผู้ผลิตสารคดี Plandemic ใช้เทคนิคการโน้มน้าวใจหลายวิธี โดยเฉพาะเทคนิคที่เรียกว่า Gish Gallop หรือการนำเสนอข้อมูลต่อเนื่องเป็นชุด ๆ เพื่อให้ผู้ฟังไม่มีเวลาทันวิเคราะห์ว่า ข้อกล่าวอ้างแต่ละเรื่องมีความถูกต้องหรือสมเหตุผลหรือไม่

นอกจากนี้ การปิดกั้นการนำเสนอสารคดี Plandemic ทางสื่อกระแสหลัก ท่ามกลางความสงสัยของผู้คนกลับไปกระตุ้นให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Streisand Effect หรือการเกิดความสนใจต่อสิ่งที่เจตนาจะไม่ให้เป็นที่สนใจ จนเรื่องดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจของสาธารณชนในเวลาต่อมา

ปัจจัยทั้งหมด นำไปสู่ความโด่งดังของ Plandemic สารคดีที่เผยแพร่ข่าวปลอมข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเข้าใจผิดในสังคมจนถึงวันนี้

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.politifact.com/article/2020/may/08/fact-checking-plandemic-documentary-full-false-con/
https://en.wikipedia.org/wiki/Plandemic
https://en.wikipedia.org/wiki/Gish_gallop
https://en.wikipedia.org/wiki/Streisand_effect

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ “กานต์” ส่อเข้าป้าย

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี “กานต์” หมายเลข 1 จากเพื่อไทย ส่อเข้าป้าย ด้าน ปชน. แถลงยอมรับยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ส่วนอุตรดิตถ์ “ชัยศิริ” อดีตนายก อบจ. ส่อเข้าวิน

วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลักพุ่งเหินฟ้าคารถ 6 ล้อ

รอดตายปาฏิหาริย์! วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลัก ก่อนพุ่งเหินฟ้าติดคาบนรถ 6 ล้อ พลเมืองดีเข้าช่วยเหลือออกมาจากรถ ปลอดภัย

กกต.สั่งเอาผิดอาญา “ชวาล” สส.ปชน. ยื่นบัญชีใช้จ่ายเท็จ

กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา “ชวาล” สส.ปชน. ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง โทษหนักทั้งจำคุก-ตัดสิทธิ 5 ปี

ข่าวแนะนำ

ฉายารัฐบาลปี67

สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายา ปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง”

สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายา ปี67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” ฉายานายกฯ “แพทองโพย” ด้าน 7 รัฐมนตรีติดโผ “บิ๊กอ้วน-อนุทิน-ทวี” พ่วง 3 รัฐมนตรีโลกลืม ส่วนวาทะแห่งปี “สามีเป็นคนใต้”

เลือกตั้ง อบจ.อุบลฯ

“กานต์ กัลป์ตินันท์” ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ

“กานต์ กัลป์ตินันท์” ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี พร้อมขอบคุณคนเสื้อแดง และนายทักษิณ ชินวัตร ที่ช่วยผลักดัน

ฟรีคอนเสิร์ต “มหานครคัลเลอร์ฟูลปาร์ตี้ 2025” ส่งสุขรับปีใหม่

ส่งความสุขรับปีใหม่ กับฟรีคอนเสิร์ต “มหานครคัลเลอร์ฟูลปาร์ตี้ 2025” ศิลปินลูกทุ่งเกือบ 100 ชีวิต ร่วมโชว์จัดเต็ม

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ “กานต์” ส่อเข้าป้าย

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี “กานต์” หมายเลข 1 จากเพื่อไทย ส่อเข้าป้าย ด้าน ปชน. แถลงยอมรับยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ส่วนอุตรดิตถ์ “ชัยศิริ” อดีตนายก อบจ. ส่อเข้าวิน