บนสื่อสังคมออนไลน์มีคำเตือนและข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการในสัตว์เลี้ยงที่เรียกว่า “ฮีตสโตรก” ข้อเท็จจริง รายละเอียด และคำแนะนำเรื่องนี้เป็นอย่างไร
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์ คณบดีคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ฮีตสโตรก (Heat Stroke) หมายถึง การที่อุณหภูมิของสัตว์เลี้ยงไปมีผลหยุดหรือทำลายกระบวนการต่าง ๆ ภายในร่างกายของตัวสัตว์ (ในคนก็เกิดได้)
การที่สัตว์ได้รับความร้อนสะสมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น วันที่อากาศร้อนมาก สัตว์เลี้ยง และ/หรือ สุนัข ถูกผูกหรือขังกรงไว้บริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงหลายชั่วโมง ตัวเจ้าของมีภารกิจหลายอย่างต้องทำและก็ลืมไปเลยว่าสัตว์เลี้ยงอยู่บริเวณที่แสงแดดส่องถึงและมีความร้อนสะสมด้วย ผ่านไปสักระยะเวลาหนึ่งสัตว์เลี้ยงจะเริ่มมีอาการมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ จนกระทั่งทนไม่ได้
อาการฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างไร ?
อาการเริ่มต้นของฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยงที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนก็คือ หายใจแรงขึ้น (เรียกว่าหอบก็ได้) หายใจลำบาก อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูง หัวใจเต้นเร็ว กระหายน้ำมาก บางตัวถ้าดูแลไม่ทันก็หมดสติ อาจจะชัก โคม่า และเสียชีวิตได้
สำหรับสุนัขสังเกตดูได้เลย จะพบว่าลิ้นแดง แต่เหงือกซีด ตัวที่เป็นฮีตสโตรกน้ำลายจะเหนียว เพราะขาดน้ำ อาการต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่พบเลยในชีวิตสัตว์เลี้ยงปกติ
เจ้าของ และ/หรือ ผู้ดูแล เห็นอาการฮีตสโตรกของสัตว์เลี้ยง จะต้องทำอะไรทันที ?
ข้อ 1. เปลี่ยนสภาพสิ่งแวดล้อมทันที ด้วยการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงไปบริเวณที่มีอากาศเย็น มีร่มเงา หรืออยู่ในอาคารที่ไม่โดนแสงแดดโดยตรง
ข้อ 2. เช็ดตัวสัตว์เลี้ยงด้วยน้ำเย็น (กรณีนี้หมายถึงสุนัข) ห้ามนำสัตว์เลี้ยงไปจุ่มในน้ำเย็น แต่จะต้องค่อย ๆ เช็ดตัวให้อุณหภูมิค่อย ๆ ลดลง ใช้แอลกอฮอล์หรือผ้าเย็นเช็ดอุ้งเท้า เพราะอุ้งเท้าเป็นตัวระบายความร้อนของสุนัข หรือใช้น้ำฉีดตามตัวให้ผ่านผิวหนัง ผ่านขน เหมือนกับสร้างความเย็นโดยรอบตัวก็จะช่วยได้ แล้วให้น้ำกินทีละน้อย ๆ (อาจจะเป็นน้ำเย็นก็ได้) ช่วยลดอุณหภูมิได้เร็วขึ้น และดูว่าการตอบสนองเป็นอย่างไร
ทั้งข้อ 1 และ ข้อ 2 เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและช่วยลดความร้อนในตัวไม่ให้ฮีตสโตรกเป็นมากขึ้น
ระหว่างที่ดูแลสุนัข ต้องเริ่มโทรศัพท์ติดต่อสัตวแพทย์ เพื่อให้รู้ว่าสักครู่จะมีสุนัขที่มีอาการฮีตสโตรกไปที่คลินิก
สุดท้ายจริง ๆ ก็ต้องไปจบที่คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ เพราะว่าหลังจากที่ฟื้นตัวจากอาการฮีตสโตรก ผู้เลี้ยงสุนัขก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าความเสียหายลุกลามไปมากน้อยแค่ไหน
กรณีสัตว์เลี้ยง (สุนัข) หมดสติ ?
ถ้าพบว่าสุนัขหมดสติต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะแก้ไม่ได้ ขณะที่สุนัขไม่รู้สึกตัว ต่อให้ผู้เลี้ยงหรือเจ้าของทำอะไรก็ตาม อาจจะไม่สามารถช่วยชีวิตได้ แต่ถ้าสุนัขยังมีสติ ลุกเดินได้ รู้สึกตัว ก็ค่อย ๆ ปฐมพยาบาลทันที
สุนัขพันธุ์ไทยทนอากาศร้อนได้ดีกว่าสุนัขพันธุ์ต่างประเทศ จริงหรือ ?
ที่บอกว่าสุนัขพันธุ์ไทยทนอากาศร้อนได้ดีกว่า คำว่า “ทนได้ดีกว่า” ไม่ได้หมายความว่า “จะทนอยู่ได้นานกว่า”
สุนัขสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เกิดในเมืองไทยมีการปรับตัวแล้ว เพียงแต่มีข้อจำกัดบางอย่างทางด้านสรีระเท่านั้นเองที่อาจจะทำให้เกิดการสะสมของความร้อนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น บางสายพันธุ์มีขนดกหนา
สำหรับเรื่องทนความร้อนบอกไม่ได้จริง ๆ ว่าสุนัขแต่ละตัวทนความร้อนได้มากน้อยแค่ไหน อุณหภูมิที่ทนได้กี่องศาเซลเซียส ระยะเวลานานแค่ไหน เพราะไม่มีตัวเลขตายตัว เช่น ตัวนี้ทนได้นานครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมง
อย่าลืมว่าสุนัขแต่ละตัวมีความแตกต่างกัน จะคาดการณ์อะไรว่าพันธุ์นี้ขนสั้นน่าจะทนความร้อนอยู่ได้นานกว่า ไม่จริงเสมอไป เพราะมีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
“สุนัข” ไม่ว่าสายพันธุ์ไหน ขนสั้น ขนยาว ตัวเล็ก ตัวใหญ่ เป็นฮีตสโตรกได้เหมือนกัน พบว่าพันธุ์ขนยาว ขนหนา ไวต่อการเกิดฮีตสโตรกมาก เจ้าของจะต้องเตรียมแผนต่าง ๆ ล่วงหน้าไว้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือทันเวลาและปลอดภัย
เนื่องจากเจ้าของหรือผู้ดูแลสุนัขจะไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อไหร่สุนัขจะเกิดฮีตสโตรก ความร้อนแค่ไหน นานแค่ไหน ซึ่งพูดไม่ได้เลยว่าผูกสุนัขไว้แค่ครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง และมีบางคนที่นำสุนัขใส่รถไป แล้วจอดรถทิ้งไว้นาน 2-3 ชั่วโมง เพียงแค่เปิดกระจกไว้นิดเดียว แต่ในรถยนต์มีความร้อนสะสมมาก สุนัขแต่ละตัว แต่ละสายพันธุ์ มีความทนทานแตกต่างกัน
อากาศร้อน ควรเตรียมให้พร้อม
เจ้าของสุนัขและผู้ดูแลควรเตรียมสถานที่ให้พร้อมสำหรับการป้องกันและบรรเทาอากาศร้อน ได้แก่ ร่มเงาที่สุนัขสามารถจะอาศัยอยู่ได้จนไม่เกิดความร้อนสะสม มีน้ำกินเพียงพอตลอดทั้งวัน วางน้ำตั้งเตรียมเผื่อไว้ให้มากกว่าปกติ เพราะว่าวันไหนที่ออกไปทำงาน จะไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสุนัขเป็นอยู่อย่างไร และอยู่รอดปลอดภัยมากน้อยแค่ไหนด้วย
ฉะนั้น การหาวิธีป้องกันให้สุนัขอยู่รอดปลอดภัยได้ดีที่สุดเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเวลาที่สุนัขเป็นฮีตสโตรก ขั้นตอนสุดท้าย อาการโคม่าและเสียชีวิตได้ จึงไม่ควรมองข้ามความปลอดภัย ก่อนจะสูญเสียสัตว์เลี้ยงโดยไม่จำเป็น
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : โรคฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยง
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter