บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ว่าในประเทศไทยมีการพบโรคลัมปีสกิน ในโค-กระบือ โรคนี้เป็นอย่างไร
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศว่าประเทศไทยพบโรคอุบัติใหม่ ชื่อ“ลัมปีสกิน” เกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus ที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และรายงานอย่างเป็นทางการปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564
หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือผ่านทาง Application DLD 4.0 หรือโทรศัพท์สายด่วน 06 3225 6888
“ลัมปีสกิน” คือโรคอะไร ?
“ลัมปีสกิน” เป็นโรคติดเชื้อในกลุ่มสัตว์เคี้ยวเอื้อง โค (วัว) กระบือ (ควาย) และสัตว์ป่าบางชนิด เกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus (LSD) ในสกุล Capripoxvirus แต่ไม่ใช่โรคที่ติดสู่คนได้
ต้นกำเนิดของ “ลัมปีสกิน” อยู่ในทวีปแอฟริกาหลายประเทศนานนับ 10 ปีแล้ว ต่อมาค่อย ๆ ระบาดขึ้นมาทางประเทศในตะวันออกกลาง ยุโรปตอนใต้ ลุกลามไปที่รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน
โรคลัมปีสกินเริ่มแพร่ระบาดในเอเชียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน บังกลาเทศ และอินเดีย หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2563 พบการระบาดในภูฏาน เนปาล ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และพม่า
“ลัมปีสกิน” เป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หากพบสัตว์มีอาการต้องสงสัย ต้องเเจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป
ลักษณะอาการของ “ลัมปีสกิน” เป็นอย่างไร ?
เชื้อไวรัสเข้าทางผิวหนังโดยแมลงดูดเลือด เมื่อเข้าไปแล้วจะทำให้สัตว์มีไข้ในระยะแรก
ระยะฟักตัวเร็วสุด 2-4 วัน ไปจนถึง 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเริ่มมีตุ่มเป็นก้อนนูน ๆ กลม ๆ ที่ผิวหนัง
ก้อนกลม ๆ เป็นตุ่มนี้จะเริ่มแข็งตัวแล้วก็แตก หรือมีรอยหนาตัวขึ้นและหลุดออกเป็นแผลหลุม
ลักษณะที่เกิดขึ้นกับปริมาณรอยโรค จะรุนแรงหรือไม่รุนแรง แล้วอาจจะมีภาวะแทรกซ้อน การติดเชื้อไวรัส ก็จะใช้เวลาประมาณ1 เดือนตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงอาการของโรคสงบ แผลจะทุเลาหายไปเป็นรอยแผลเป็น บางตัวก็ไม่มีรอยแผลเป็น
“ลัมปีสกิน” ระบาด ต้องระมัดระวังการกินเนื้อวัวมากขึ้น จริงไหม ?
โรงฆ่าสัตว์มาตรฐาน สัตว์ที่เป็นโรคจะไม่เข้ากระบวนการฆ่า หรือถ้าหลุดรอดเข้าไปก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจซาก ตรวจคุณภาพเนื้อ ถ้าพบสิ่งผิดปกติก็จะทำลายทิ้ง
สำหรับเนื้อสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน เชื่อว่ามีความปลอดภัยระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ก่อนนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดมากิน ต้องปรุงสุกทุกครั้ง
วิธีการรักษาโรคลัมปีสกิน ?
โรคลัมปีสกินไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะ
การรักษาโรคที่ติดเชื้อจากไวรัส ส่วนใหญ่รักษาตามอาการ
โรคลัมปีสกินในสัตว์ทั่ว ๆ ไป “อาการอยู่ที่ผิวหนัง”มักใช้วิธีการทำแผลระงับความเจ็บปวด ให้สามารถกินอาหารได้ เพิ่มวิตามินและแร่ธาตุเสริมเพื่อให้ลุกขึ้นมากินอาหารปกติได้ ส่วนแผลก็ค่อย ๆ ทุเลาหายไปในเวลาประมาณ 4-5 สัปดาห์
ส่วนการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ใช้กรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน
สามารถป้องกัน “ลัมปีสกิน” ได้อย่างไร ?
การป้องกันโรคลัมปีสกิน มีแนวทางดังต่อไปนี้
1. ควบคุมการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะตามชายแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ
2. การเคลื่อนย้ายไปสู่ตลาดนัดโค-กระบือ เรื่องนี้กรมปศุสัตว์มีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น
3. เกษตรกร และ/หรือ เจ้าหน้าที่ ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ยุง แหล่งน้ำ กองมูลสัตว์ แหล่งอับชื้นในคอก ที่สามารถเป็นแหล่งเพาะเชื้อของไวรัสลัมปีสกินในสิ่งแวดล้อมได้
4. ดูแลสัตว์ป่วย หรือจำเป็นต้องทำลาย ก็ต้องทำลายให้ถูกวิธี
ถ้ามีการระบาดรุนแรงมากขึ้น ก็ต้องใช้มาตรการ “วัคซีน” เพื่อไม่ให้การระบาดขยายวงกว้าง
ความร่วมมือที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือสามารถทำได้ ?
เรื่องที่ 1 การแจ้งโรคของผู้เลี้ยงสัตว์ กรมปศุสัตว์เปิดรับแจ้งในพื้นที่ระดับอำเภอ เพื่อวางมาตรการควบคุมในพื้นที่ให้ได้
เรื่องที่ 2 คำแนะนำรักษาสัตว์ที่ถูกต้อง บางอย่างที่แนะนำในอินเทอร์เน็ตต้องตรวจสอบว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : โรคลัมปีสกิน ในโค-กระบือ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter