บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์บทความที่อ้างผลงานแพทย์คนหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับ “ความจริง” ของคอเลสเตอรอล รวมทั้งบอกว่าไม่ต้องกังวลหากคอเลสเตอรอลสูง ขณะที่ยา Statin ที่หมอจ่ายให้ผู้ป่วยกินเพื่อลดคอเลสเตอรอล อันตรายและไม่จำเป็น
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์พิเศษ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.)
บทความที่ว่านี้อ้างอิงจากแพทย์คนหนึ่ง พยายามจะสื่อสารตรงกันข้ามกับที่แพทย์ส่วนใหญ่ปฏิบัติอยู่ เช่น บอกว่า “ไขมันสูง ไม่เชิงเป็นอะไรหรอก…” หรือ “ถ้ามัวไปกินยา อาจจะเกิดผลเสียด้วยนะ..”
ตรงนี้ต้องขอแก้ไข การที่แพทย์ได้ตัดสินใจให้ประชาชนคนหนึ่งใช้ยาลดไขมัน (ยาลดไขมันมีหลายชนิด เรียกว่ายากลุ่ม “สแตติน” ประชาชนอาจจะรู้จักในชื่อว่า “ซิมวาสแตติน” “อะทอร์วาสแตติน” เป็นต้น) ซึ่งเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ หมายความว่า ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศพร้อมใจกันเห็นว่ายานี้เป็นยาจำเป็น
ยา “สแตติน” อันตราย ?
ข้อความที่แชร์บอกว่า “ใช้แล้วจะมีอันตราย ก. ข. ค. ง.” ซึ่งเป็นเรื่องปกติของยาทั้งหลาย เช่น
ผู้ป่วยเบาหวาน ใช้ยาเบาหวาน ก็มีผลข้างเคียงจากยาเบาหวาน
ผู้ป่วยความดันเลือดสูง ใช้ยาลดความดันเลือดสูง ก็มีผลข้างเคียงจากยาลดความดันเลือดสูง
การใช้ยาสแตติน ผลข้างเคียงจากยาที่พบได้คือ ปวด ๆ เมื่อย ๆ ตามกล้ามเนื้อ ถ้ามีการลดขนาดยาลง บางคนอาการก็หายไป นอกจากบางคนเท่านั้น (มีคนกินยาสแตตินประมาณ 1-2 แสนคน พบมีอาการรุนแรง 1 คน) ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จริง ๆ แพทย์ก็ตามดูให้อยู่แล้ว ก็พอรู้ว่าถึงจุดที่จะต้องหยุดยาหรือไม่
คอเลสเตอรอล ไม่อันตราย ?
มีงานวิจัยบอกว่าคอเลสเตอรอลสูงไม่เห็นจะเป็นโรคหัวใจเลย ตรงนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าหากไปเชื่อก็จะส่งผลให้บุคคลที่จำเป็นต้องใช้ยาสแตตินหยุดการใช้ยา ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงได้ โรคที่เป็นอาจจะกำเริบขึ้นมาอีก
ไขมันสูง “ช่างมัน” ทิ้งไว้…” ?
“ไขมันสูง” ไม่ใช่เรื่อง “ช่างมัน” อย่างนี้ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องได้รับยาในกลุ่มสแตตินไปกิน เพื่อลดไขมันให้อยู่ระดับที่เหมาะสม
ผู้ที่เขียนบทความเหล่านี้ อาจจะมีความเชื่อว่า “ไขมันสูง” ไม่ได้เป็นผลเสีย การอ่านงานวิจัย 1-3 ชิ้น (ตรงกับสิ่งที่คิด) จึงนำมาบอก แต่ถ้าไปดูงานวิจัยอีกเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ที่แพทย์ทั้งโลกใช้กันอยู่ ซึ่งจะเป็นผลไม่ใช่อย่างที่เขาพูดหรอก ไขมันในเลือดสูงมีผลเสียอย่างแน่นอนต่อผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
ไม่ตัดสินใจ “หยุดยา” โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ?
บุคคลที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว และ/หรือ เป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ยาสแตตินตลอดไป ถึงแม้ว่าวัดไขมันในเลือดแล้วก็ไม่ได้สูงแต่อย่างใด
เนื่องจากยากลุ่มสแตตินนี้นอกจากมีฤทธิ์ลดไขมันไม่ดี (Low-density Lipoprotein : LDL) เพิ่มไขมันดี (High Density Lipoprotein : HDL)
นอกจากนี้ ยากลุ่มสแตตินยังมีฤทธิ์อีกหลายประการ ที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ ลดการอักเสบของหลอดเลือด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการตีบอุดตันของหลอดเลือด แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นต้องกินยา ก็มีอีกหลายแนวทางเช่นกัน
เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่า ประโยชน์ที่ได้จากยามีมาก และอันตรายจากยามีน้อย นี่แหละจุดที่แพทย์เริ่มใช้ยา ที่เรียกว่า “ใช้ยาอย่างสมเหตุผล” คือพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าสมควรจะใช้ยา
ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีไขมันสูงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ก็ไม่มี อายุก็ไม่มาก คำนวณดูแล้ว ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจใน 10 ปีข้างหน้า อาจจะมีเพียง 1-3% อย่างนี้ การมีไขมันสูงเพียงอย่างเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา
สงสัยระดับความเสี่ยงของตนเอง มีเว็บไซต์ช่วยคำนวณ ?
ในประเทศไทย มีเว็บไซต์ Thai CV Risk พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ประชาชนสามารถใส่ข้อมูลลงไปได้เอง ใส่เสร็จ ระบบจะคำนวณออกมาเลยว่ามีความเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ ใน 10 ปี แต่มีองค์ประกอบอื่น ๆ ใช้พิจารณาร่วมด้วยที่ไม่ได้อยู่ในโปรแกรม แพทย์ก็จะนำมารวมกัน https://med.mahidol.ac.th/cardio_vasc…
บทความเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล เป็นอย่างไร ?
ไม่ควรแชร์ต่ออย่างยิ่ง จะทำให้ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ยานี้หยุดการใช้ยา ถ้าใครได้รับการแชร์ข้อมูลนี้ แล้วกำลังใช้ยาอยู่ด้วย อย่าหยุดยาเอง ควรไปปรึกษาแพทย์ที่รักษาก่อน
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติม รายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : Statin ยาลดคอเลสเตอรอล ก่ออันตราย จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter