บนสื่อสังคมออนไลน์มีหลายข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะสมองฝ่อ สมองฝ่อคืออะไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง และจะสามารถรักษาได้หรือไม่ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นพ.เจษฎา เขียวขจี นายแพทย์ปฏิบัติการโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
“สมองฝ่อ” คือการเสื่อมของอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย อาจจะมีอวัยวะส่วนอื่นเสื่อมถอย ลำไส้ทำงานแย่ลง ปอดแย่ลง
สมองก็คืออวัยวะที่จะพบเหตุการณ์แบบนั้นได้เหมือนกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสมองฝ่อขึ้นกับตำแหน่งที่เกิด แต่ที่พบบ่อยสุดคือ “กลุ่มอัลไซเมอร์” มีการฝ่อของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความจำ จะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องหลงลืมง่าย
ถ้ามีการเสื่อมที่สมองส่วนอื่น ๆ เช่น
สมองส่วนหน้า อาจจะมีปัญหาเรื่องทักษะด้านความคิด ความจำ การวางแผน การทำงานต่าง ๆ เคยทำอะไรได้บางอย่างแล้วเหมือนกับทำต่อไม่ได้แล้ว
สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น จะทำให้มีปัญหาเรื่องหลงทางในพื้นที่ที่คุ้นเคยประจำ
ส่วนอื่นก็มีบ้าง เช่น สมองเกี่ยวกับการใช้ภาษา ถ้ามีการฝ่อจะทำให้ผู้ป่วยนึกคำพูดนานขึ้น หรือพูดคุยแล้วผู้ป่วยฟังไม่เข้าใจ หรือฟังสิ่งที่ผู้ป่วยพูดไม่เข้าใจ เป็นต้น
ช่วงอายุการเกิดสมองฝ่อแต่ละคนจะแตกต่างกัน ?
บางคนสมองฝ่อเร็ว บางคนฝ่อช้า ในบางคนอายุ 70-80 ปี สมองอาจจะยังไม่ฝ่อมาก สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่บางคนถ้ามีกลุ่มรอยโรค หรือมีความผิดปกติที่ทำให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น เช่น มีโปรตีนผิดปกติในสมอง ก็อาจจะทำให้ตัวสมองฝ่อเร็วกว่าอายุ หรือฝ่อเร็วถ้าเทียบกับคนที่อายุกลุ่มเดียวกัน ก็จะทำให้มีอาการผิดปกติตามมาได้
มีบางคนเกิดสมองฝ่อก่อนวัยได้ กลุ่มสมองเสื่อมที่มีปัญหามักจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สมองฝ่อก่อนวัยอันควร หรือความฝ่อรุนแรงมากเมื่อเทียบกับคนอายุกลุ่มเดียวกัน เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้จะมีอาการส่งผลกระทบ 3 ด้าน
ด้านที่ 1 การทำงาน ถ้าเคยทำงานได้ อยู่ ๆ ก็ทำงานไม่ได้
ด้านที่ 2 การใช้ชีวิตประจำวัน บางคนเคยอาบน้ำได้แต่บอกอาบน้ำไม่เป็น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยอาบน้ำได้ หรือจำไม่ได้ว่าต้องอาบน้ำก็เลยไม่ได้อาบน้ำ
ด้านที่ 3 ทักษะทางสังคม เคยออกนอกบ้านได้ปกติ เป็นคนสุภาพเรียบร้อย อยู่ ๆ ก็มีพฤติกรรมเกรี้ยวกราด หรือมีพฤติกรรมไม่สุภาพขณะออกไปนอกบ้าน
เมื่อไหร่ก็ตามที่อาการของสมองเสื่อมส่งผลกระทบ 3 ด้านนี้ เป็นอาการที่ควรจะต้องพาคนที่เกี่ยวข้องพบแพทย์
วิธีการรักษา “สมองฝ่อ”
ต้องยอมรับการรักษาว่า “สมองฝ่อ” ให้หายขาดอาจจะเป็นไปไม่ได้
“สมอง” คืออวัยวะของร่างกายที่เสื่อมถอยได้
อายุที่เพิ่มขึ้น คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดของการเกิดสมองเสื่อม เป็นปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้ และยังไม่มีใครสามารถ “ห้าม” อายุไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ สมองเสื่อมก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ดังนั้น เมื่อมีอาการ “สมองเสื่อม” ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องรับการรักษาตามอาการเป็นหลัก เช่น ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องความคิดและความจำมากขึ้น การรักษาโดยใช้ยาบางอย่างเพื่อเสริมด้านความคิดและความจำอาจจะทำให้อาการดีขึ้น ถ้ามีปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้ยาก็ช่วยได้เช่นกัน
การรักษา “สมองเสื่อม” ที่ไม่ใช้ยา ?
ถ้า “ไม่ใช้ยา” ใช้วิธีการ “ปรับพฤติกรรม” เช่น ถ้ามีพฤติกรรมวุ่นวายเพราะมีสิ่งกระตุ้น การปรับสิ่งแวดล้อม การปรับให้ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่สบาย การมีญาติดูแลใกล้ชิดคอยให้กำลังใจผู้ป่วย มีกิจกรรมให้ผู้ป่วยทำบ้าง อาจจะมีการให้เล่นเกม เล่นอักษรไขว้ เล่นหมากรุก เพื่อเป็นการกระตุ้นสมอง เป็นการรักษาที่ตัวญาติกับผู้ดูแลสามารถช่วยได้
โรคที่เกี่ยวข้องกับสมองสามารถชะลอได้ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่มียาอะไรที่สามารถรักษาสมองที่เสื่อมแล้วให้หายขาดได้
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : สมองฝ่อ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter