21 พฤศจิกายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอข้อมูลเท็จเผยแพร่ทาง Instagram ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าสภาวะเรื่องโลกร้อนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเป็นเรื่องลวงโลก เพราะภูมิอากาศเฉลี่ยของทวีปแอนตาร์กติกาต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส จึงเป็นไปไม่ได้ที่น้ำแข็งจะละลาย นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าขั้วโลกใต้มีอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนมวลน้ำแข็งบริเวณธารน้ำแข็งขั้วโลกใต้ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน กลายเป็นคลิปที่ทำยอดไลก์กว่า 40,000 ครั้งในช่วงสองสัปดาห์
บทสรุป :
- แม้ตอนในของทวีปแอนตาร์กติกาจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีที่ -60 °C แต่บริเวณชายฝั่งจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีเหลือเพียง -10 °C
- ในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิบริเวณชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกาจะมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็ง ซึ่งน้ำแข็งสามารถละลายได้
- บริเวณคาบสมุทรแอนตาร์กติก เป็นหนึ่งในสถานที่ที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในโลก โดยพบว่าช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 3 °C
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
คลิปวิดีโอที่ถูกแชร์นำเนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากภาพยนตร์สารคดีปี 2016 เรื่อง Climate Hustle ซึ่งผลิตออกมาโดยกลุ่มคนที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Denialist)
ทวีปแอนตาร์กติกาไม่ได้มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสตลอดเวลา
มีการอ้างความเห็นของ ดอน อิสเทอร์บรูก ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ที่อ้างว่า ครอบน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ (Ice Cap : มวลน้ำแข็งที่ครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า 50,000 ตร.กม.) ไม่ละลายอย่างที่มีการกล่าวอ้าง เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยที่ทวีปแอนตาร์กติกาอยู่ที่ -58 องศาเซลเซียส น้ำแข็งจึงไม่มีทางละลาย นอกจากนี้อุณหภูมิเฉลี่ยที่แอนตาร์กติกามีแต่จะลดลงอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจจากศูนย์วิจัย British Antarctic Survey พบว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยที่ทวีปแอนตาร์กติกาแทบไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ อุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ของแอนตาร์กติกายังมีความแตกต่างกันอย่างมาก ข้อมูลปี 2022 จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า พื้นที่ตอนในของแอนตาร์กติกามีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีที่ -60 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณชายฝั่งที่อยู่ติดกับทะเลจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีที่ -10 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนของขั้วโลกใต้ (ตุลาคม-กุมภาพันธ์) พบว่าอุณหภูมิบางวันสูงกว่า 0 องศาเซลเซียส ซึ่งน้ำแข็งสามารถละลายได้
ปัจจัยที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย นอกจากอุณหภูมิในบรรยากาศแล้ว ยังมาจากอุณหภูมิในน้ำทะเลเช่นกัน
แคเธอรีน วอล์คเกอร์ นักธรณีวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งจากศูนย์วิจัยด้านสมุทรศาสตร์ สถาบัน Woods Hole Oceanographic Institution ชี้แจงว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกใต้ที่วงการวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญ คือบริเวณที่ติดกับชายฝั่งทะเล ไม่ใช่พื้นที่ตอนในของทวีป ในช่วงฤดูร้อนของแอนตาร์กติกาซึ่งอุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็ง การสัมผัสน้ำทะเลที่อุณหภูมิอุ่นกว่าส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกใต้เกิดการละลาย
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลให้มหาสมุทรใต้หรือมหาสมุทรแอนตาร์กติกมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณคาบสมุทรแอนตาร์กติก (Antarctic Peninsula) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของขั้วโลกใต้ หนึ่งในสถานที่ที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในโลก ผลสำรวจขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) พบว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา คาบสมุทรแอนตาร์กติกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกือบ 3 องศาเซลเซียส หรือเพิ่มขึ้น 0.5 องศาเซลเซียสทุก ๆ ทศวรรษ
ปริมาณน้ำแข็งบริเวณธารน้ำแข็งขั้วโลกใต้ลดลงอีกครั้ง
จูดิธ เคอร์รี อดีตนักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย เทค กล่าวในคลิปที่ถูกแชร์ว่า เครื่องมือพยากรณ์สภาพภูมิอากาศทำนายว่าปริมาณน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาจะลดลง แต่ความเป็นจริงแล้วตรง
กันข้าม เพราะปริมาณน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์
การสำรวจปริมาณน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาทำด้วยการเปรียบเทียบภาพถ่ายจากดาวเทียม โดยจะสำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกใต้เปลี่ยนแปลงมากที่สุด
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือ NASA ได้สำรวจปริมาณนำแข็งขั้วโลกใต้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 พบว่าในช่วงปี 2014 ปริมาณน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ปริมาณน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกากลับลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
NASA ได้สำรวจปริมาณน้ำแข็งของธารน้ำแข็งภาคพื้นทวีปหรือพืดน้ำแข็ง (Ice Sheet : มวลน้ำแข็งที่ครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า 50,000 ตร.กม.) ของทวีปแอนตาร์กติกานับตั้งแต่ปี 2002 ผลสำรวจพบว่าแต่ละปีปริมาณน้ำแข็งของพืดน้ำแข็งขั้วโลกใต้ลดลงถึงประมาณปีละ 1.5 แสนล้านเมตริกตันต่อปี หรือสูญเสียน้ำแข็งตั้งแต่การสำรวจเมื่อปี 2002 ไปแล้ว 3 ล้านล้านเมตริกตัน
จูดิธ เคอร์รี เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาโลกและบรรยากาศศาสตร์ของจอร์เจีย เทค แต่ลาออกจากตำแหน่งในปี 2017 เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับวงการวิทยาศาสตร์ แม้เธอจะยอมรับว่าโลกกำลังเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เธอไม่เชื่อว่ากิจกรรมของมนุษย์มีอิทธิพลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ส่วน ดอน อิสเทอร์บรูก นักธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นวอชิงตัน มีความเชื่อว่า สภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและสิ้นสุดลงแล้ว และไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีความสำคัญอย่างที่วงการวิทยาศาสตร์รณรงค์กันอยู่ในปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://climatefeedback.org/claimreview/antarctic-ice-coverage-not-increasing-record-levels-nor-continent-getting-colder-contrary-to-curry-easterbrook-cfact-movie/
https://www.usatoday.com/story/news/factcheck/2023/04/28/fact-check-antarctic-ice-melting-sea-ice-set-record-low/11744244002/
https://www.politifact.com/factchecks/2023/apr/25/instagram-posts/yes-the-antarctic-ice-sheets-are-melting-scientist/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter