04 เมษายน 2566
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : Politifact (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ประเภทข่าวปลอม : ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
- งานวิจัยพบว่าวัคซีนโควิด-19 สูตร 2 สายพันธุ์ป้องกันการติดเชื้อได้เพียง 30% แต่ไม่ได้ระบุว่าวัคซีนทำให้เสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น
- เป็นผลวิจัยที่ทดลองกับบุคลากรทางการแพทย์ ไม่อาจใช้อ้างอิงกับประชากรทั่วไปได้
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ รอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 มกราคมปี 2023 เพื่อสนับสนุนมาตรการต่อต้านการฉีดวัคซีนและการสวมหน้ากากในฟลอริดา โดยอ้างว่าผลวิจัยส่วนใหญ่พบว่าวัคซีนโควิด-19 สูตร 2 สายพันธุ์ ยิ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าเดิม
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
จากการตรวจสอบโดย Politifact พบว่า คำกล่าวอ้างของ รอน เดอซานติส นำมาจากงานวิจัยที่ถูกกล่าวถึงในบทความของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เนื้อหาเป็นการตั้งคำถามว่าการฉีดวัคซีนคือสาเหตุของการเกิดไวรัสกลายพันธุ์หรือไม่
งานวิจัยชิ้นนั้นนำมาจากเว็บไซต์ medRxiv โดยอยู่ในสถานะผลงานก่อนการตีพิมพ์ (Preprint) ซึ่งยังไม่ผ่านการพิชญพิจารณ์ (Peer Review) หรือการประเมินความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการ
ทีมวิจัยได้ประเมินประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 51,011 คนที่ทำงานให้กับสถาบันทางการแพทย์ Cleveland Clinic โดยสำรวจตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคมปี 2022 หลังจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้การรับรองวัคซีนโควิด-19 สูตร 2 สายพันธุ์ของบริษัท Pfizer และ Moderna ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
หลังผ่านไป 4 เดือน ทีมวิจัยพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5% ทำให้ทีมวิจัยสรุปว่า วัคซีนโควิด-19 สูตร 2 สายพันธุ์มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เพียง 30% โดยไม่ได้ระบุว่าประสิทธิผลป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 มีมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อมูลส่วนไหนในงานวิจัยที่ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 สูตร 2 สายพันธุ์ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น
ดร.นาบิน เชสทา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ชี้แจงว่าผลวิจัยไม่ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนโควิด-19 สูตร 2 สายพันธุ์กับความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ผลวิจัยเบื้องต้นยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 สูตร 2 สายพันธุ์สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้
จิล โรเบิร์ต ศาสตราจารย์ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย University of South Florida ย้ำว่า งานวิจัยไม่ได้ศึกษาวัคซีนกับความเสี่ยงการติดเชื้อ แต่ศึกษาประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีน
แม้ผลวิจัยจะระบุว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มตามระยะเวลานับตั้งแต่การติดเชื้อและจำนวนการฉีดวัคซีน แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนหลายโดส จะทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนไม่ฉีด
ข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า ในบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ของ Cleveland Clinic ทั้งหมด มีเพียง 12% ที่ไม่ฉีดวัคซีน มี 83% ที่ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส และมีมากกว่า 50% ที่ได้รับวัคซีนมากกว่า 3 โดสขึ้นไป
ดร.เรเน นาจาร่า นักระบาดวิทยา และหัวหน้าหน่วยงานสาธารณสุข สถาบัน College of Physicians of Philadelphia ชี้แจงว่า ผลวิจัยที่พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนแล้วติดโควิด-19 มากกว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีนไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะชุมชนใดมีประชากรฉีดวัคซีนจำนวนมาก ก็มีโอกาสที่จะพบการติดเชื้อโควิด-19 ในประชากรฉีดวัคซีนมากกว่าประชากรไม่ฉีดวัคซีนเช่นกัน นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ยังเป็นอาชีพที่เข้าถึงวัคซีนได้มากกว่าและเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าประชากรทั่วไป ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่บุคลากรทางการแพทย์จะมีอัตราการฉีดวัคซีนมากกว่าคนทั่วไปและมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปในเวลาเดียวกัน
แอนเดรีย พาเชตติ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อและประชาสัมพันธ์ของ Cleveland Clinic ย้ำว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย มีอายุเฉลี่ยเพียง 42 ปี ถือเป็นกลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อย ต่างจากประชากรทั่วไปที่มีทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้นประสิทธิผลของวัคซีนในงานวิจัยจึงไม่อาจใช้อ้างอิงกับกลุ่มประชากรทั่วไปได้
ข้อมูลจากหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า มีชาวเมืองฟลอริดาซึ่ง รอน เดอซานติส ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตร 2 สายพันธุ์ไม่ถึง 11% เท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.politifact.com/factchecks/2023/jan/20/ron-desantis/gov-ron-desantis-falsely-claims-bivalent-booster-v/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter