10 กุมภาพันธ์ 2566
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Teyit (ตุรกี) Times of Malta (มอลต้า)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
แผ่นดินไหวระดับ 7.8 ที่ประเทศตุรกีและซีเรีย เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่แห่งปี 2023 คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2 หมื่นราย
ท่ามกลางความสูญเสีย ได้เกิดการเผยแพร่ข่าวปลอมข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในหลายรูปแบบ สร้างความเข้าใจผิดและความตื่นตระหนกให้กับผู้คนในหลายประเทศ
ศูนย์ Fact Checking จากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากข่าวปลอมโดยตรงดังกล่าว ทั้ง Teyit จากตุรกี และ Times of Malta จากมอลต้า ร่วมกันหักล้างข่าวปลอมที่มีต่อเหตุสะเทือนขวัญของชาวโลกใน 4 หัวข้อดังนี้
1.คลิปตึกถล่ม?
ภาพที่สื่อมวลชนทั่วโลกใช้รายงานข่าวแผ่นดินไหวที่ตุรกีและซีเรียอย่างแพร่หลาย คือภาพการถล่มของตึกและอาคารในที่เกิดเหตุ และมีการแชร์ภาพความเสียหายอย่างแพร่หลายทางสื่อสังคมออนไลน์
อย่างไรก็ดี พบว่ามีภาพบางส่วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด
เช่นภาพที่ผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งอ้างว่าเป็นภาพตึกถล่มที่อยู่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย แต่การตรวจสอบคลิปต้นฉบับพบว่า แท้จริงแล้ว การถล่มของตึกดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2020 ในเหตุแผ่นดินไหวแถบทะเลอีเจียน โดยมีจุดศูนย์กลางที่เกาะซาโมสของประเทศกรีซ และเป็นตึกที่ตั้งอยู่ในเมืองอิซเมียร์ (Izmir) เมืองทางภาคตะวันตกของประเทศตุรกี ไม่ได้ตั้งอยู่ในเมืองที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศตุรกี
2.เกิดคลื่นสึนามิในตุรกี?
หลังข่าวแผ่นดินไหวระดับ 7.8 ที่ประเทศตุรกี มีการแจ้งเตือนการเกิดคลื่นสึนามิทั้งในประเทศตุรกีและอีกหลายประเทศ
มีผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งอ้างว่าเกิดคลื่นสึนามิพัดถล่มชายหาดในเมืองอาดานา (Adana) เมืองทางตอนใต้ของประเทศตุรกี ซึ่งอยู่ห่างจากจากเมืองกาซีอันเทป (Gaziantep) เมืองที่เป็นจุดศูนย์กลางของเหตุแผ่นดินไหวประมาณ 220 กิโลกเมตร
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบคลิปที่นำมาโพสต์ทาง Twitter กับคลิปต้นฉบับทาง Youtube พบว่า แท้จริงแล้วเป็นเหตุคลื่นสึนามิพัดถล่มชายหาดเมืองเดอร์บัน (Durban) ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2017
นอกจากนี้ ยังไม่มีการรายงานจากสำนักงานจัดการภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินของตุรกี (AFAD) หรือหน่วยงานใดพบการเกิดเหตุสึนามิในเมืองอาดานาอีกด้วย
3.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในตุรกี?
มีผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งอ้างว่าเหตุแผ่นดินไหวทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในตุรกีระเบิด จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันตุรกีกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ในเมืองเมอร์ซิน (Mersin) เมืองทางตอนใต้ของประเทศ ห่างจากจากเมืองกาซีอันเทป (Gaziantep) เมืองที่เป็นจุดศูนย์กลางของเหตุแผ่นดินไหวประมาณ 300 กิโลกเมตร
อย่างไรก็ดี คลิปวิดีโอที่ใช้ในการกล่าวอ้าง แท้จริงแล้วเป็นเหตุระเบิดที่ท่าเรือกรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน โดยบันทึกไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2020 สาเหตุจากการระเบิดของโกดังในเรือบรรทุกสินค้าที่จัดเก็บสารแอมโมเนียม ไนเตรท สารที่ติดไฟได้ง่ายจำนวนถึง 2,750 ตัน การระเบิดสร้างความเสียหายในวงกว้างและกลายเป็นข่าวดังเมื่อปี 2020
ส่วน Akkuyu Nuclear Power Plant โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ของตุรกีที่คาดว่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2023 นี้ ได้รับการยืนยันจากตัวแทนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าไม่ได้ผลกระทบแต่อย่างใด แม้ผู้คนในเมืองเมอร์ซินจะรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว แต่ตัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้รับความเสียหาย
4.จะเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องในหลายประเทศ?
มีบัญชี Facebook ของผู้ใช้ในสหรัฐฯ อ้างว่า ประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและคาบสมุทรบอลข่าน ควรเฝ้าระวังการเกิดแผ่นดินไหวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพราะพลังงานจากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศตุรกีจะแพร่กระจายไปยังประเทศใกล้เคียง
ต่อมาคำเตือนดังกล่าวถูกผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศมอลต้านำไปเผยแพร่ต่อ โดยระบุว่าแรงสั้นสะเทือนจะส่งผลกระทบต่อประเทศมอลต้าในช่วงสุดสัปดาห์นี้ แม้แต่สำนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ในมอลต้ายังนำคำเตือนดังกล่าวไปรายงานอีกด้วย
จากการตรวจสอบโดย Times of Malta พบว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง
เพาลีน กาเลีย หัวหน้าศูนย์วิจัยและเฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัย University of Malta อธิบายว่า เหตุผลที่แผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกีจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศมอลต้า ประเทศที่เป็นเกาะทางตอนใต้ของอิตาลี เนื่องจากจากทั้งสองประเทศตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกคนละแห่ง โดยประเทศตุรกีตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลียและแผ่นเปลือกโลกอาระเบีย ส่วนประเทศมอลต้าตั้งอยู่บนตอนบนสุดของแผ่นเปลือกโลกแอฟริกา จึงเป็นไปได้ยากที่ผลกระทบจากแผ่นดินไหวจะเดินทางจากรอยเลื่อนของเปลือกโลกแห่งหนึ่งไปยังรอยเลื่อนของเปลือกโลกอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน
คำเตือนดังกล่าวมีต้นทางมาจาก The Watchmen’s Earth and Space connection เพจ Facebook ในสหรัฐฯ ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 8 แสนคน เป็นเพจที่นำเสนอการรายงานผลกระทบของแผ่นดินไหว, เปลวสุริยะ และปรากฏการณ์ในอวกาศที่ส่งผลกระทบต่อโลก
เทคนิกที่ทางเพจใช้พยากรณ์เหตุแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้แก่ Blot Echo Wind Map ซึ่งทางเพจอ้างว่าสามารถทำนายเหตุแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากการยืนยันโดยนักธรณีวิทยา, นักแผ่นดินไหววิทยา และ Fact Checker ในหลายประเทศ ระบุว่า เทคนิก Blot Echo Wind Map ไม่สามารถใช้พยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้
สหภาพธรณีวิทยายุโรป (European Geosciences Union) ชี้แจงว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถทำนายตำแหน่งและความรุนแรงของเหตุแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าในระยะสั้นได้ เช่น การพยากรณ์ภายในหนึ่งเดือน, หนึ่งสัปดาห์ หรือหนึ่งวัน
สอดคล้องกับความเห็นจาก กรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey) ที่ยืนยันว่า ทาง USGS หรือหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์แห่งไหนก็ไม่เคยทำนายการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ล่วงหน้าได้ และเทคโนโลยีดังกล่าวก็จะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย นักวิทยาศาสตร์ของ USGS ในปัจจุบันสามารถทำได้แค่คำนวณความเป็นไปได้การเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปีเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง:
https://teyit.org/analiz-yikilan-binanin-6-subat-2023-kahramanmaras-depreminden-oldugu-iddiasi
https://teyit.org/analiz-videonun-adanada-tsunamiyi-gosterdigi-iddiasi
https://teyit.org/analiz-videonun-turkiyedeki-depremin-ardindan-yasanan-nukleer-patlamayi-gosterdigi-iddiasi
https://timesofmalta.com/articles/view/factcheck-energy-turkey-earthquake-spread-malta.1012128
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter