21 ธ.ค. – กรณีธงชาติไทยไม่ได้ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา หลังจาก “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลกแบดมินตัน ประเภทคู่ผสม ได้กลายเป็นดราม่าที่ถูกตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่การแก้ไข
เกิดเป็นกระแสดราม่า หลังนักกีฬาแบดมินตันคู่ผสมคู่แรกของไทย “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลก “เวิลด์ แชมเปียนชิพส์ 2021” ที่สเปน และยังครองมือ 1 ของโลกไปจนจบฤดูกาลนี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งในพิธีรับมอบเหรียญรางวัล ปรากฏว่าประเทศที่ได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดง ได้เชิญธงชาติขึ้นสู่เสา แต่ประเทศไทยที่คว้าเหรียญทอง กลับไม่สามารถเชิญธงชาติได้ มีเพียงการเชิญธงของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยเท่านั้น
สาเหตุที่ธงชาติไทยไม่ถูกเชิญขึ้นยอดเสา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ชี้แจงว่า ประเทศไทยถูกลงโทษตามประกาศขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency : WADA) เนื่องจากยังไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่ง กกท. กำลังเร่งดำเนินการเพื่อนำไปสู่การพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีการแก้ไขกฎหมายสารต้องห้ามกีฬา เพื่อยื่นเรื่องให้ WADA หรือองค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลก ปลดแบนประเทศไทย ว่าตอนนี้มีการร่างกฎหมายเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตามที่วาดาต้องการ ส่วนที่ผ่านมานักกีฬาทีมชาติไทยได้รางวัล แต่ไม่ได้ชักธงชาติขึ้นยอดเสา ซึ่งอาจจะกระทบต่อจิตใจของคนไทยนั้น พล.อ.ประวิตร ระบุว่าเป็นเรื่องของกติกา และต้องดูเรื่องกฎหมายด้วย ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาในการแก้กฎหมายไม่ได้มีการกำหนด เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาฯ เป็นผู้พิจารณา
ก่อนหน้านี้วาดาระบุเหตุผลในบทลงโทษประเทศไทยว่า องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของประเทศไทยบกพร่องในการนำกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 ไปปรับใช้กับนักกีฬาอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการใช้กฎหมายของประเทศ กล่าวคือ พ.ร.บ.สารกระตุ้นฉบับปัจจุบันของไทย ล้าหลังเกินไปในสายตาของวาดา และยังมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของวาดา โดยขอบเขตของประเทศไทยต่อบทลงโทษของวาดา คือ ประเทศไทยไม่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ หลังวันที่ 7 ต.ค. 2564 และไม่สามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติทุกระดับ เป็นเวลา 1 ปี หลังจากบทลงโทษมีผลบังคับใช้ห้ามใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ในระดับภูมิภาค ระดับทวีป และระดับโลก รวมทั้งรายการแข่งขันที่สหพันธ์เป็นผู้จัด ส่วนเครื่องแต่งกายนักกีฬาไทย สามารถติดธงชาติไทยและใช้ข้อความว่า THAILAND บนเครื่องแต่งกายได้ทุกรายการ
การกีฬาแห่งประเทศไทย ประสานขออนุญาตใช้ธงที่มีตราสัญลักษณ์คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และขอให้สมาคมกีฬาฯ ประสานไปยังสหพันธ์ เพื่อขอใช้ธงสมาคมกีฬา หรือธงสหพันธ์ ในการเข้าร่วมการแข่งขันไปก่อน
ขณะที่ช้างศึก ทีมชาติไทย ที่เตรียมลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีโปรแกรมรอบรองชนะเลิศ นัดแรก พบกับเวียดนาม ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน คือไม่สามารถใช้ธงชาติไทยได้เช่นกัน แต่หากทีมชาติไทยก้าวไปคว้าแชมป์ เราสามารถร้องเพลงชาติไทยร่วมกันได้
บทลงโทษที่วาดาแบนไทยจะคงสถานะไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น หากไทยไม่สามารถแก้ไขข้อกฎหมายได้ตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกของวาดา แต่คาดว่าปัญหาทุกอย่าง จะเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.พ. และคาดว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือน พ.ค.ปีหน้า .-สำนักข่าวไทย