กรุงเทพฯ 21 ม.ค. – หลังจาก ศบค.กทม. คลายล็อกอนุญาตให้เปิดสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจออกกำลังกายพร้อมปรับตัวสู้วิกฤติโควิด-19 ขอให้ภาครัฐเยียวยา หลังได้รับผลกระทบหนัก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน รวมถึงบรรดาธุรกิจเล็ก-ใหญ่ทั้งหลาย เช่นเดียวกับธุรกิจออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นยิม ฟิตเนส หรือสตูดิโอออกกำลังกาย ก็ไม่สามารถหลีกหนีวิกฤติครั้งหนี้ไปได้
“แฟร์” ธนากร สวัสดิ์ชัย อดีตสื่อมวลชนที่เจอวิกฤติสื่อ ต้องผันตัวมาเป็นเจ้าของยิมแฟร์ ฟิตเนส ย่านวิภาวดี สะท้อนความเดือดร้อนของธุกิจออกกำลังกายว่า รายได้จาก 100 กลายเป็น 0 เมื่อต้องปิดการให้บริการตามมาตรการของภาครัฐ ทุกคนเข้าใจและอดทน หวังว่าจะมีการเยียวยาอย่างทั่วถึง หวังจะกลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติในรูปแบบใหม่
นายศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ฟิตเนสต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าเช่า ค่าเทรนเนอร์ พนักงาน หลายแห่งได้ปรับตัวผ่านการนำเสนอคลาสออกกำลังกายออนไลน์ ที่สมาชิกสามารถเล่นตามที่บ้านได้ การเทรนด์ส่วนตัวผ่าน Video call หรือการให้สมาชิกเลือกเวลาเพื่อให้เทรนเนอร์ไปสอนที่บ้านได้ โดยต้องพักการเรียกเก็บค่าสมาชิก หรือยืดเวลาการเป็นสมาชิก เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อโมเดลธุรกิจ ที่ต้องพึ่งพาค่าสมาชิกรายเดือนจากเมมเบอร์ หรือรายได้จากสมาชิกใหม่ที่เข้ามาเป็นระยะ
สุวโรจน์ เรขะเฉลิมพัฒน์ อดีตนักเพาะกายทีมชาติไทย และมิสเตอร์ไทยแลนด์คนแรก ที่ผันตัวมาทำอาชีพช่างตัดผม และผู้ฝึกสอนกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย เปิดเผยว่า ตนรับผลกระทบทั้งธุรกิจตัดผม ซึ่งต้องปิดชั่วคราว และในฐานะผู้ฝึกสอน ที่ต้องขาดรายได้ มองว่าการออกกำลังกายที่บ้านด้วยตนเอง กับการมาออกกำลังกายที่ฟิตเนส แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะการมาออกกำลังกายที่ฟิตเนสมีอุปกรณ์ที่ครบครัน มีเทรนเนอร์คอยแนะนำวิธีที่ถูกต้อง และมีบรรยากาศรอบข้างที่ทำให้มีแรงบันดาลใจ และได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
ล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพมหานคร หรือ ศบค.กทม. อนุญาตให้เปิดสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส โดยมีมาตรการไม่ให้มีเทรนเนอร์หรือผู้ฝึกสอน งดเว้นการอบตัว อบไอน้ำแบบรวม เว้นระยะห่างระหว่างเครื่องออกกำลังกายอย่างน้อย 2 เมตร ทำความสะอาดจุดที่ต้องสัมผัสบ่อยๆ ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ต่อจากนี้ฟิตเนสและสตูดิโอออกกำลังกายจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการ แต่คาดว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคอาจจะเปลี่ยนไปให้สอดรับกับวิถีใหม่ การกลับมาเปิดให้บริการอาจต้องเปิดรับการพัฒนาธุรกิจที่ผสมผสานการออกกำลังกาย ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ให้ยืดหยุ่นต่อความต้องการ และพฤติกรรมการออกกำลังกายในอนาคต.-สำนักข่าวไทย