สธ. 26 ก.ค.- กรมการแพทย์ เตรียมหารือออกหลักเกณฑ์แนวทางการแยกโรคฝีดาษวานร กับกลุ่มโรคที่มีตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย เพื่อใช้ในการรักษาในคลินิกผิวหนัง และ รพ.เอกชน ย้ำฝีดาษวานรไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา อาการเน้นชัดนอกจากตุ่มน้ำขึ้นทั่วตัว ต่อมน้ำเหลืองต้องโตด้วย คนที่จะมีอาการรุนแรง คือ คนภูมิต่ำ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานรว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 ก.ค.) กรมการแพทย์ เตรียมหารือกับโรงพยาบาล คลินิกผิวหนัง เพื่อประชุมแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษวานร เนื่องจากโรคดังกล่าวถือว่าเป็นโรคใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นโรคเดิมประจำถิ่นในแอฟริกา โดยฝีดาษวานรถือเป็น DNA VIRUS การติดต่อเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ได้ทั้งน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มฝีหนอง น้ำเหลือง หรือน้ำต่างๆ ของร่างกาย ระยะฟักเชื้อ 7-21 วัน หรือประมาณ 3 สัปดาห์
ตุ่มที่เกิดขึ้นตามร่างกายสามารถขึ้นได้ทั่วตัว และมี 4 ระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะที่ 1 มีตุ่มแดงขึ้น, ระยะที่ 2 ตุ่มพัฒนากลายเป็นตุ่มนูน, ระยะที่ 3 ตุ่มกลายเป็นหนอง และ 4 ตุ่มดังกล่าวได้แตก ซึ่งการแพร่เชื้อเกิดการติดต่อจะเกิดในลักษณะของระยะที่ 3 และ 4 โดยทั่วไปโรคนี้เป็นแล้วสามารถหายเองได้ เมื่อแผลตกสะเก็ด หรือใช้การรักษาตามอาการ สำหรับคนที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ รับประทานยากดภูมิในคนรักษามะเร็ง หรือ ปลูกถ่ายอวัยวะ เด็กเล็กอายุต่ำว่า 8 ปี และหญิงตั้งครรภ์
พญ.นฤมล กล่าวว่า เนื่องจากโรคฝีดาษวานรจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีลักษณะของตุ่มน้ำตามผิวหนัง ใกล้เคียงทั้งโรคอีสุกอีใส และไข้ทรพิษ เบื้องต้นทางสถาบันโรคผิวหนังวางเกณฑ์และแนวทางจำแนกแยกโรค ที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึง หรือใกล้เคียงกับฝีดาษวานร เพื่อให้แยกโรคออก ได้แก่
1.โรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วตัว และในกระพุ้งแก้ม ช่องปาก สามารถติดต่อได้จากละอองฝอย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มอาการที่ไม่รุนแรงในกลุ่มที่มีตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย ระยะฟักโรค 11-20 วัน รักษาด้วยการทานยาต้านไวรัส
2.โรคเริม มีอาการป่วยนอกจากตุ่มน้ำตามร่างกายแล้ว ยังจะมีอาการอักเสบตามเส้นประสาท และทิ้งรอยโรคไว้ สามารถกลับมาป่วยซ้ำได้ โดยมีระยะฟักตัว 3-7 วัน รักษาด้วยยาต้านไวรัส
3.งูสวัด เป็นการพัฒนาของเชื้ออีสุกอีใส แต่เชื้อหลบที่ปมประสาท ทำให้มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อตามร่างกาย และมีอาการแสบร้อน คันผิวหนัง ติดเชื้อได้จากสารคัดหลั่ง การรักษาเน้นยาต้านไวรัส
4.ไข้ทรพิษ มีไข้สูง ปวดเมื่อย มีตุ้มผื่นขึ้น อ่อนเพลีย อาเจียน ปวดท้อง ระยะฟักตัว 7-17 วัน การรักษาเน้นประคับประคอง
5.ฝีดาษวานร มีตั้งแต่ไข้ ปวดเมื่อยศีรษะตามร่างกาย ปวดหลัง และเด่นชัดต่อมน้ำเหลืองโต รักษาเน้นประคับประคอง
พญ.นฤมล กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแยกโรคจะมีการประชุมของกรมการแพทย์ และสรุปส่งให้ทาง EOC ของกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาต่อไป ส่วนที่มีความกังวลเรื่องเชื้อในสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าเชื้อนี้สามารถฆ่าได้ด้วยแอลกอฮอล์และสบู่ ดังนั้น มาตรการหมั่นล้างมือและงดสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หรือผู้เข้าข่าย (คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย) สามารถป้องกันได้ .- สำนักข่าวไทย