กทม. 12 ก.ค. – นักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเตรียมทดสอบมณีแดง เซลล์ต้านวัยชราในมนุษย์ครั้งแรกของโลก หลังทดสอบในสัตว์ทดลองแล้วพบว่าหนูวัยชรากลับเป็นหนูวัยอ่อนเยาว์ มีความแข็งแรงและกระตือรือร้นขึ้น คาดผลิตมณีแดงเป็นยาได้ปลายปี 2566
การวิจัยโมเลกุลมณีแดง ซึ่งเป็นนวัตกรรมต้านเซลล์ชรา คืนวัยหนุ่มสาว อันเป็นการค้นพบต้นเหตุของความแก่ครั้งแรกของโลก โดยทีมนักวิจัยของจุฬาฯ วิจัยเรื่องนี้มากว่า 20 ปี พบว่าดีเอ็นเอของมนุษย์จะมีรอยแยกซึ่งทำหน้าที่ปกป้องดีเอ็นเอให้แข็งแรง แต่ว่ารอยแยกดีเอ็นเอจะลดลงเมื่อมนุษย์มีอายุมากขึ้น ส่งผลทำให้ดีเอ็นเอถูกทำลายได้ง่าย และปฏิกิริยาต่อเนื่องในเซลล์จากการที่ดีเอ็นเอถูกทำลาย คือความแก่ชรา รวมทั้งอาจกลายพันธุ์นำไปสู่โรคมะเร็ง ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในผู้สูงอายุ เช่น ความดันโลหิตสูง กระดูกผุ สมองเสื่อม ทั้งยังเป็นเหตุให้ร่างกายเสื่อมประสิทธิภาพในการซ่อมแซมตัวเอง มีผลให้แผลของผู้ป่วยเบาหวานหรือแผลไฟไหม้หายยาก
แต่ในทางกลับกัน หากเติมรอยแยกให้ดีเอ็นเอที่ชราแล้ว ดีเอ็นเอก็จะกลับมาแข็งแรง คงทน ไม่ถูกทำลายได้ง่าย กลไกความชราก็จะหยุดลง เซลล์ที่ชราแล้วก็จะค่อยๆ กลับมาแข็งแรง ในระดับก่อนวัยชราอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยีนส์ที่เรียกว่า “มณีแดง” หรือ Red Gems อยู่ในดีเอ็นเอ ทำหน้าที่สร้างรอยแยกในดีเอ็นเอ ทำให้เซลล์ที่ได้รับมณีแดง จะมีดีเอ็นเอที่แข็งแรงขึ้น คงทน ไม่ถูกทำลายได้ง่าย กลไกความชราก็จะหยุดลง เซลล์ที่ชราแล้วก็จะค่อยๆ กลับมาแข็งแรงในระดับก่อนวัยชราอีกครั้งหนึ่ง
ดังจะเห็นจากผลการทดลองในหนูชรา หมู และลิงแสมชราปลอดภัยดี ไม่มีผลข้างเคียง กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง เทียบกับคนก็เหมือนคนอายุ 70 ปี ลดลงมาเหลือ 25 ปี แผลจากเบาหวาน ไฟไหม้ ก็หายดี ไม่มีผลข้างเคียง การทำงานของสมอง ตับ และไต ในส่วนของไขมันในช่องท้องและพังผืดในตับได้ลดหายไปด้วย กำลังทดสอบในหนูที่เป็นโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์พาร์กินสัน และปอดเป็นพังผืด โดยขั้นตอนผลิตมณีแดงเป็นยาเพื่อนำไปศึกษาทางคลินิกในมนุษย์ คาดว่าจะเริ่มการศึกษาได้ในช่วงปลายปี 2566. – สำนักข่าวไทย