กรุงเทพฯ 11 ก.ค. – มติผู้บริหาร กทม. ขยายเวลาจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ ถึง ต.ค.66 เล็งปรับปรุงข้อบัญญัติขยะให้รอบคอบ ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ
(11 ก.ค.65) ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2565 ในวันนี้ เห็นชอบขยายเวลาการบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2562 ออกไปก่อน เป็น 1 ตุลาคม 2566 ตามที่สำนักสิ่งแวดล้อมเสนอให้พิจารณา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 จึงจะมีการปรับปรุงข้อบัญญัติใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้บริหาร และเชิญทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มาร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีความรอบคอบและสะท้อนปัญหาได้ครบทุกด้าน
“สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการคำนวณค่าจัดเก็บขยะ คือ ต้องลดค่าใช้จ่ายก่อน การขึ้นค่าธรรมเนียมจะเป็นภาระกับประชาชน และเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้บริการพื้นฐานกับประชาชนอยู่แล้ว สำหรับการเก็บอัตราใหม่จะทำให้ กทม.มีรายได้เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท แต่จะพยายามไม่ให้ประชาชนต้องจ่ายมากขึ้น ซึ่งภาคประชาชนอาจจะมีข้อจำกัดมากกว่าภาคเอกชน เอกชนสามารถรีไซเคิลและบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยะส่วนใหญ่ทุกวันนี้กว่า 60% มาจากครัวเรือน หลายส่วนเห็นว่า อัตราค่าขยะใหม่จะทำให้ กทม.เก็บค่าขยะจากเอกชนได้มากขึ้น แต่ในมุมกลับกันอาจเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนมากขึ้นด้วย ต้องคิดให้รอบคอบ และอัตราค่าธรรมเนียมขยะปัจจุบันคิดที่น้ำหนักขยะเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงเรื่องแรงจูงใจในการบริหารจัดการหรือการคัดแยกขยะ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาการเตรียมการรับมือสาธารณภัย และการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย ตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้เตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร 6 แผน ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากการคมนาคมและขนส่ง แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากภัยแล้ง แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอัคคีภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัย นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร จะร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซักซ้อมแผนบูรณาการสาธารณภัย ระดับ 2 ระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2565
“จะเห็นได้ว่า จากเหตุอัคคีภัยที่บ่อนไก่และเยาวราช พบว่ามีความไม่เป็นเนื้อเดียวกันระหว่างอาสาสมัครป้องกันเหตุและผู้บัญชาการเหตุการณ์ ซึ่งมีอาสาสมัครจากหลายกลุ่ม ต่อไปต้องมีการทำทะเบียนอาสาสมัครดับเพลิง กู้ชีพ และกู้ภัย ให้ชัดเจน มีป้าย มีเครื่องแบบ รวมถึงต้องพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) จัดทำคู่มือการจัดการสาธารณภัยให้ ผอ.เขต หรือผู้รับผิดชอบได้ศึกษา และต้องมีหลักสูตรการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานสาธารณภัยในระยะยาวด้วย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
• กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า สถานการณ์โควิด-19 จากตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อภาพรวมยังไม่น่าเป็นห่วง ทั้งในแง่การครองเตียงแดงด้วย โดยกรุงเทพมหานครได้เตรียมเตียงแดงและเตียงเขียวพร้อมให้บริการผู้ติดเชื้อ พร้อมกันนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความพร้อมด้านอื่นๆ เช่น สตอกยา และออกซิเจนโมเลเตอร์ (เครื่องผลิตออกซิเจน) สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ มีพร้อม แต่ยาตัวใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขให้ใช้ คือ ยาโมลนูพิราเวียร์ ค่อนข้างได้ผล แต่ติดปัญหาที่ใช้กับเด็กไม่ได้ ต้องรอประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข แต่เชื่อว่าสถานการณ์ไม่มีปัญหาเรื่องสตอกยา ขณะเดียวกัน ให้สำรวจออกซิเจนโมเลเตอร์ (เครื่องผลิตออกซิเจน) หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยเพิ่มได้ ที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อนั้น ประชาชนยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์
นอกจากนี้ เป็นเรื่องน่าดีใจที่มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบางค่อนข้างเยอะ การรับวัคซีนเข็ม 3 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ อยากให้มาฉีดวัคซีนกันเยอะๆ ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน และผู้ที่เคยฉีดมาแล้วให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามระยะเวลาที่กำหนด ใครที่อยากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถไปรับวัคซีนได้ตามจุดบริการต่างๆ ซึ่งหากไม่อยากจองคิวฉีดวัคซีน สามารถวอล์กอิน (Walk In) ได้ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ถึงวันที่ 31 ก.ค.65 หรือที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ทุกวันศุกร์ หรือจะจองคิวผ่านแอปพลิเคชันล่วงหน้า โดยเลือกรับบริการจากจุดที่สะดวกหรือใกล้บ้านได้ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) และศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะวันศุกร์กับวันเสาร์ มีคนมาฉีดวัคซีนมากขึ้น ขณะนี้คิดว่าสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วงมาก และที่ผ่านมาก็มีการทำงานและประสานงานใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขต่อเนื่อง
ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครนั้น กรุงเทพมหานครมีนักเรียนในสังกัดทั้งหมด 253,515 คน มีเด็กนักเรียนติดเชื้อ 2,133 คน คิดเป็น 0.84% ได้มีการให้แนวทางในการดำเนินการไป และให้ดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด คิดว่าสถานการณ์ยังควบคุมได้ พร้อมทั้งมีการเตรียมพร้อมรับมืออยู่ตลอด. – สำนักข่าวไทย