รพ.ราชวิถี 1 มี.ค.-สธ.ดีเดย์ เริ่มระบบ OPD รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดวันแรก รับประสานทุก รพ. สังกัด กทม. โรงเรียนแพทย์ ทำเหมือนเตรียมพร้อมโควิดสู่โรคประจำถิ่น ย้ำเป็นการทำคู่ขนาน HI, CI และเป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยจ่ายยาเน้นตามอาการ มีตั้งแต่ยาหวัด-ฟ้าทะลายโจร-ฟาวิพิราเวียร์
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมบริการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบ ระบบผู้ป่วยนอกหรือ OPD วันแรก ว่า บริการตรวจรักษาดังกล่าว เป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยแบบสมัครใจ นอกจากระบบ HI และ CI ตามปกติ โดยระบบบริการตรวจแบบ OPD นี้ จะเหมาะสำหรับกลุ่มคนที่มีไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ให้บริการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เป็นการรักษาแบบ “เจอ-แจก-จบ” เจอ คือตรวจเชื้อพบผลบวก แจก คือการแจกความรู้สร้างความเข้าใจแนะนำให้เข้าถึงระบบ และจบ คือผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบบริการครบวงจร หากผู้ป่วยตรวจ ATK ด้วยตนเองพบผลบวกแนะนำให้โทรสายด่วน สปสช.1330 เพื่อให้แพทย์ประเมินคัดกรองความเสี่ยง หากเสี่ยงน้อยก็จะประสานการรักษาผ่าน OPD หรือ HI/CI ตามความสมัครใจ หากผู้ป่วยต้องการเดินทางมารักษาในระบบ OPD ที่คลินิกทางเดินหายใจหรือ ARI คลินิก ที่ รพ.ก็ทำได้ โดย ต้องป้องกันตนเองสูงสุดไม่ให้แพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ใช้เจลแอลกอฮอล์ หรือหากใช้รถสาธารณะก็ต้องป้องกันตนเองสูงสุด
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทั้งนี้ 95% ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน มีอาการน้อย ถึงไม่มีอาการ อยู่ในกลุ่มสีเขียว และโอกาสที่อาการแปรกลายผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง มีน้อยไม่ถึง 1% ไม่เหมือนกับสายพันธุ์อัลฟา เดลตา ทั้งนี้ยังย้ำว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรับบริการรักษาฟรี
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้ประสาน รพ.สังกัดกรมการแพทย์ กทม.โรงเรียนแพทย์ รองรับการดูแลผู้ป่วยโควิดในระบบ OPD โดยเฉพาะ กทม.ที่มีศูนย์บริการสาธารณสุข 60 กว่าแห่งที่มีคลินิกทางเดินหายใจสามารถรองรับผู้ป่วยได้วันละ 1 หมื่นราย ย้ำ OPD โควิดเป็นบริการเสริมที่เป็นทางเลือกไม่ใช่ทดแทน HI รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีภาวะเสี่ยง ไม่มีประกัน แต่ให้เป็นความสมัครใจ เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่หน้างาน
ขณะที่ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า มีผู้ป่วยเดินทางมารักษาที่คลินิกทางเดินหายใจเฉลี่ยวันละ 150-250 คน ในจำนวนนี้เมื่อคัดกรองความเสี่ยงพบเป็นโควิด-19 ประมาณ 60-70% และขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ในระบบ HI ของราชวิถี มีรวม 2,021 คน ทั้งนี้ในการจ่ายยา เน้นการจ่ายยาอย่างสมเหตุสมผล เหมาะกับผู้ป่วย และไม่ได้รับผลกระทบหรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยา เกินจำเป็น โดยสูตรยาที่จะแจกให้กับผู้ติดเชื้อโควิด จะแบ่งไปตามกลุ่มอาการ ได้แก่ 1.สูตรยารักษาตามอาการ 2.สูตรยารักษาการติดเชื้อ ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ก็จะจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ รวมถึงยาแก้แพ้ 3. สูตรยา ที่มีอาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย และจ่ายยาฆ่าเชื้อ 4.สูตรยากลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการแพ้อะม็อกซีซิลลิน 5.สูตรยาที่มีการผสมฟ้าทะลายโจร 6. สูตรยาที่มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียรให้กับคนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 90 กิโลกรัม และ 7.สูตรยาที่มีการจ่ายยาฟาวิราเวียร์ในผู้ติดเชื้อน้ำหนัก 90 กิโลกรัม .-สำนักข่าวไทย