12 ธ.ค.- ผู้เชี่ยวชาญชี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสร้างศักยภาพไทยในการรับมือโรคระบาดโควิด-19 ชี้มีครบสามองค์สำคัญ คือ ประชาชนเข้าถึงบริการ ค่ารักษาพยาบาลไม่แพง และบริการมีคุณภาพ
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพเข้าร่วมเสวนา UHC: The key system to fight COVID-19 and build back better ณ กระทรวงการต่างประเทศ ในงานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ธันวาคมทุกปี จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ. จอส ฟอนเดลาร์ (Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในระหว่างเวทีเสวนาว่า โลกได้รับสองบทเรียนหลักจากการระบาดของโควิด 19 หนึ่งคือนานาประเทศไม่พร้อมในการรับมือโรคระบาด ทั้งๆ ที่มีสัญญาณว่าจะเกิดการระบาดครั้งใหญ่ และสองประเทศที่มีระบบสุขภาพเข้มแข็งสามารถจัดการและควบคุมโรคระบาดได้ดีกว่าประเทศที่มีระบบสุขภาพอ่อนแอ ทั้งยังสามารถให้บริการสุขภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 ได้อย่างต่อเนื่อง
“เมื่อเราพูดถึงความมั่นคงด้านสุขภาพ ย่อมหมายถึงความสามารถในการรับมือวิกฤติอย่างโรคระบาด และนั่นย่อมหมายถึงการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” นพ.ฟอนเดลาร์ กล่าว
“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องมี 3 องค์ประกอบนี้ คือ การเข้าถึงบริการ ราคาเข้าถึงได้ และบริการมีคุณภาพ ประเทศไทยมีทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ นั้นหมายถึงการมีเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ มีงบประมานและห่วงโซ่อุปทานพร้อม ทำให้มีความพร้อมเมื่อประสบโรคระบาด” ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าว
ขณะที่ นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เมื่อพิจารณาระบบสุขภาพไทยแล้ว พบว่ามี 6 ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการจัดการและควบคุมโควิด 19 ได้แก่ 1) หน่วยงานต่างๆมีผู้นำเข้มแข็ง และใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ 2) รัฐบาลมีระบบบริหารจัดการที่สามารถปรับตัวได้เร็ว 3) มีทรัพยากรสาธารณสุขพร้อม 4) มีประสบการณ์จากการรับมือโรคระบาดในอดีต เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ และ H1N1 5) มีการสื่อสารความเสี่ยงสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องและโปร่งใส และ 6) ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการรับมือโรคระบาด
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าโควิดทำให้ สปสช. และหน่วยงานด้านสุขภาพต้องปรับวิธีการทำงาน เช่น การมีสิทธิประโยชน์เดียวข้ามระบบหลักประกันสุขภาพ โดยประชาชนจากทุกระบบต้องสามารถเข้าถึงการตรวจและการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังเพิ่มการให้บริการสุขภาพอื่นๆ เช่น บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล และการส่งยาทางไปรษณีย์ เพื่อให้ผู้ป่วยยังเข้าถึงบริการภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ในส่วนของเรื่องงบประมาณ แต่เดิมนั้น สปสช. ไม่ได้มีงบประมาณมาจัดการโควิดโดยเฉพาะ แต่ได้รับงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาล ทำให้สามารถทำสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด ไปพร้อมๆกับสิทธิประโยชน์สำหรับโรคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม นพ.จเด็จ กล่าวว่ายังมีความท้าทายที่ต้องนำมาทำงานต่อ เช่น การพัฒนากลไกทางการเงินที่พร้อมรับมือโรคระบาดในอนาคต และการทำระบบฐานข้อมูลสุขภาพข้ามระบบประกันสุขภาพ
ด้านนายทาคาฮิโระ โมริตะ (Takahiro Morita) หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ประจำประเทศไทย กล่าวว่าการรับมือโรคระบาดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือข้ามประเทศ ในส่วนของไจก้า ได้ทำงานร่วมกับไทยมายาวนานในการสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง รวมถึงผลักดันระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีโลก นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงโรคโควิดระบาด เช่น ส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ประเทศไทยมากกว่า 2 ล้านโดส บริจาคเครื่องผลิตออกซิเจนให้ผู้ป่วยโควิด และร่วมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบวินิจฉัยโรค.-สำนักข่าวไทย