สปสช. 25 พ.ย.-สปสช.แนะผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เวลายื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เอกสารต้องครบ มีรายละเอียดถูกต้อง ถึงจะทำให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาได้รวดเร็ว
นางภัทรภร ธนธัญญา ผู้อำนวยการส่วน ฝ่ายกฎหมายพิทักษ์สิทธิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงภาพรวมการยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยากรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ว่า ขณะนี้ใน กทม.มีการยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยารวมทั้งหมด 1,741 คำร้อง พิจารณาไปแล้ว 1,150 คำร้อง ไม่เข้าเกณฑ์พิจารณา 256 คำร้อง รอพิจารณาอีก 335 คำร้อง จ่ายเงินเยียวยาแล้วรวม 92 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการยื่นอุทธรณ์อีก 203 ราย และจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มจากกรณีอุทธรณ์อีก 27 ล้านบาท
นางภัทรภร กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือเบื้องต้นฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าถ้าหากเกิดผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากวัคซีนที่รัฐบาลจัดสรรให้ ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองเยียวยา โดยผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาคือคนไทยทุกคน ทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ หรือสิทธิอื่นๆ ส่วนเกณฑ์การเยียวยาแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.มีอาการเล็กน้อย แต่ต้องหยุดงาน หรือทำการรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 100,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการ มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 240,000 บาท และ 3.เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 400,000 บาท ส่วนกรณีมีอาการเล็กน้อย เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อย ท้องเสีย ซึ่งหายเองได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ ไม่ถือว่าเข้าข่ายที่จะยื่นขอรับเงินเยียวยาได้
นางภัทรภร กล่าวว่า เพื่อให้การยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ได้รับการพิจารณาเร็ว ขอเน้นย้ำว่าเอกสารที่ยื่นมาต้องมีความถูกต้องครบถ้วนตามที่ สปสช.กำหนด โดยจะเป็นตัวผู้ได้รับความเสียหายมายื่นเอง หรือให้ทายาท ผู้อุปการะ หรือแม้แต่หน่วยบริการยื่นแทนให้ก็ได้ และไม่ต้องรีบร้อน สามารถพบแพทย์เพื่อรักษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจนหายดีก่อนแล้วค่อยมายื่นคำร้องก็ได้ เพราะ สปสช. เปิดให้มายื่นได้นานถึง 2 ปีนับจากที่ทราบว่าเกิดผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19
สำหรับขั้นตอนการยื่นคำร้องนั้น อันดับแรกให้เข้าไปดาวน์โหลดแบบคำร้องขอรับเงินเยียวยาได้ที่หน้าหลักของเว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th จากนั้นกรอกข้อมูลตามที่ระบุในแบบคำร้องให้ละเอียดครบถ้วน อาทิ ชื่อ นามสกุล อายุ เลขประจำตัว 13 หลัก ที่อยู่ หน่วยบริการที่ไปรับการฉีดวัคซีน หมายเลขโทรศัพท์ ฯลฯ จากนั้นเมื่อกรอกแบบคำร้องแล้ว ให้แนบเอกสารสำเนาบัตรประชาชน หรือกรณียื่นแทนต้องมีใบมอบฉันทะด้วย ส่วนกรณีเสียชีวิตต้องมีสำเนาใบมรณะบัตร นอกจากนี้ยังมีใบรับรองแพทย์หรือเอกสารเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ สำเนาใบรับการฉีดวัคซีน หรือสำเนาผลการสอบสวนโรค (ถ้ามี) ตลอดจนสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร
“ในส่วนสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร ย้ำว่าต้องมีคำนำหน้านาม ชื่อ นามสกุล ตรงกับสำเนาบัตรประชาชนที่ยื่น เคยมีกรณีผู้ยื่นคำร้องรายหนึ่งในสมุดบัญชีธนาคารยังใช้คำนำหน้านามว่า ด.ญ.แต่ในสำเนาบัตรประชาชนใช้คำว่า น.ส.แบบนี้ยังโอนเงินให้ไม่ได้ ต้องไปแก้ไขสมุดบัญชีธนาคารก่อน ดังนั้น อยากเน้นย้ำอีกครั้งเรื่องความถูกต้องของรายละเอียดเหล่านี้ รวมทั้งความครบถ้วนของเอกสาร เพราะถ้าเอกสารไม่ครบก็ต้องมีการขอเอกสารเพิ่มเติม ทำให้กระบวนการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาล่าช้าออกไป” นางภัทรภร กล่าว
นางภัทรภร กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่กรอกคำร้องและรวบรวมเอกสารประกอบครบถ้วนแล้ว ในพื้นที่ สปสช.เขต13 กทม. สามารถยื่นซองเอกสารได้ที่ สปสช.เขต 13 กทม. จ่าหน้าจดหมายถึงผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. วงเล็บมุมซองว่ายื่นคำร้องวัคซีน โดยสามารถยื่นด้วยตัวเองที่อาคาร B ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ หรือกรณีส่งทางไปรษณีย์ให้ส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนก็ได้ หรือกรณีต่างจังหวัด ยื่นได้ที่โรงพยาบาลที่รับการฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สำนักงาน สปสช.เขตพื้นที่นั้นๆ
“เมื่อได้รับเอกสารแล้ว สปสช.จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทันที โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาเงินเยียวยาฯระดับเขต จะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด และเมื่อมีมติจ่ายเงินเยียวยาแล้ว สปสช.จะโอนเงินเข้าไปที่บัญชีธนาคารภายใน 5 วัน พร้อมมี SMS แจ้งให้ทราบว่าได้โอนเงินแล้ว หรือหากผู้ร้องยังไม่พึงพอใจผลการพิจารณา สามารถยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันหลังได้รับหนังสือแจ้งจาก สปสช. ทั้งนี้ กรณีมีข้อสงสัยในการกรอกข้อมูลหรือการยื่นคำร้อง สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือ Line official @ucbkk สร้างสุข”นางภัทรภร กล่าว .-สำนักข่าวไทย