กรุงเทพฯ 16 ส.ค.- แพทย์จุฬาฯ เผยผลทดสอบวัคซีน ChulaCov19 ในอาสาสมัคร กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเทียบเท่ากับวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ ไบออนเทค ยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมและเชื้อกลายพันธุ์ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ช่วยขจัดเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของผู้ป่วยโควิดได้เป็นอย่างดี
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผย ความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนา ChulaCov19 วัคซีน mRNA สัญชาติไทยรุ่นเแรก หลังประสบความสำเร็จจากการทดลองในลิงและหนู พบว่าช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงได้ผลิตและทดสอบทางคลินิกเฟสที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ในกลุ่มอาสาสมัคร 36 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มา 7 วันแล้ว พบว่ามีความปลอดภัยดี ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ มีเพียงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับเล็กน้อย หรือปานกลาง และจะดีขึ้นภายใน 1-3 วัน ที่สำคัญยังพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงเทียบเท่ากับวันซีน mRNA อื่นๆ เช่น ไฟเซอร์ ไบออนเทค สามารถกระตุ้นแอนติบอดีได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม และแอนติบอดีที่สูงนี้สามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา อีกทั้งยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด ที-เซลล์ ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของผู้ป่วยโควิดได้อย่างดีอีกด้วย
วัคซีน ChulaCov19 สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ได้นาน 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการขนส่งและการนำวัคซีนไปใช้จริงในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ
หลังจากนี้ทีมผู้วิจัยจะทำการทดสอบเฟสที่ 2 เริ่มฉีดวัคซีนให้อาสาสมัครประมาณวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ส่วนการดำเนินการในเฟส 3 อยู่ระหว่างการหารือว่าการขึ้นทะเบียนกับ อย. จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ศ.นพ.เกียรติ ย้ำอีกว่า ถ้าอยากให้ 1 ใน 4 วัคซีนที่ผลิตในไทย ได้รับการรับรองเป็นภาวะฉุกเฉิน สามารถนำมาใช้ได้จริงภายในเดือนเมษายนปีหน้า ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน จะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ระดมทุนให้เพียงพอ อย. ต้องออกกติกาการขึ้นทะเบียนที่ชัดเจนโดยเร็วว่าจะต้องทำวิจัยระยะสองบี และหรือระยะสามอย่างไร ส่วนโรงงานผลิต ต้องเร่งดำเนินการให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในจำนวนมากได้ ขณะที่นโยบายการจองและจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าก็ต้องมีความชัดเจนด้วย.-สำนักข่าวไทย