ก.ต่างประเทศ 1 เม.ย.- กระทรวงการต่างประเทศยืนยันไทยไม่มีนโยบายผลักดันผู้อพยพเมียนมา พร้อมดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน เตรียมพร้อมอพยพคนไทยกลับประเทศหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมาว่า ประเทศไทยไม่สบายใจต่อการเสียชีวิตและการบาดเจ็บของประชาชนเมียนมา จึงขอให้ทางการเมียนมาใช้ความอดทนในการดำเนินการและคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม และให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธีผ่านการพูดคุยตามช่องทางที่สร้างสรรค์โดยเร็ว ซึ่งในส่วนของไทยกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศเมียนมา เพื่อให้ได้สันติภาพที่ยั่งยืนสำหรับประชาชนชาวเมียนมา และเพื่อให้เมียนมากลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งเมียนมาที่มีสันติ มีเสถียรภาพ ความเป็นปึกแผ่น ความเจริญรุ่งเรือง จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อเมียนมา แต่จะส่งผลต่อเมียนมาและส่งผลต่อนานาประเทศด้วย
สำหรับกรณีที่มีผู้หนีภัยความไม่สงบเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า ไทยได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมขอให้มั่นใจว่าไทยมีประสบการณ์ในการรับมือ รวมทั้งบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเตรียมพื้นที่ในการอพยพ และนำผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยทั้งสิ้น 2,788 คน มีผู้แสดงความจำนงขอกลับประเทศแล้ว 2,572 คน ยังเหลือเพียงกลุ่มเด็ก สตรี และคนชรา จำนวน 216 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564) และไทยไม่มีนโยบายในการผลักดันผู้อพยพอย่างแน่นอน โดยจะต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยธรรม พร้อมย้ำว่าผู้ที่เดินทางกลับไปเป็นการเดินทางด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่การผลักดัน
นายธานี กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงไทยติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และมีมาตรการรองรับอยู่แล้ว ส่วนการดูแลตามหลักมนุษยธรรมนั้น ประเทศไทยไม่มีนโยบายเรื่องการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศ และเมื่อเข้ามาจะดูแลตามหลักมนุษยธรรม แม้ว่าไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย หากเป็นภาคีจะมีพันธกรณีที่จะต้องรับและให้สิทธิในการจ้างงานด้านการศึกษาภายใต้อนุสัญญา ทั้งนี้ในช่วงหลาย 10 ปี ไทยได้รับผู้ลี้ภัยต่างๆ จากประเทศเพื่อนบ้าน และพื้นที่ตามแนวชายแดนก็มีศูนย์พักพิง ซึ่งบางส่วนก็ได้เดินทางกลับเมียนมาหรือไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 ซึ่งผู้ที่ลี้ภัยเข้ามาจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของไทยอย่างเข้มงวด อีกทั้งพื้นที่ตามแนวชายแดนก็มีการควบคุมอย่างเข้มงวดตามหลักปฏิบัติของฝ่ายความมั่นคง
ส่วนกรณีที่มิสแกรนด์เมียนมาขอพำนักอยู่ในประเทศไทยต่อนั้น นายธานีระบุว่า เป็นการขอขยายอายุการตรวจลงตราเท่านั้น เรื่องนี้ไม่มีความกังวล เพราะประเทศไทยสามารถเดินทางเข้าออกได้ตามปกติแล้ว และขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากสถานทูตเมียนมาในประเทศไทย
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยังกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือคนไทยในเมียนมาว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ว่าสถานการณ์ยังมีการประท้วงเป็นบางพื้นที่ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดหาอาหารสิ่งของไม่ขาดแคล โดยทางการไทยได้มีการจัดทำแผนการเตรียมพร้อมอพยพคนไทย และประชุมประเมินสถานการณ์ทุกวันอย่างต่อเนื่อง จากการประเมินสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ถึงขันต้องอพยพคนไทยกลับประเทศ แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ทางการไทยก็พร้อมที่จะอพยพคนไทยกลับ
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยได้มีการอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับไทยทางอากาศในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้ประสานเที่ยวบินไว้ 3 เที่ยวบิน คือ วันที่ 6 เมษายน 2564 จำนวน 2 เที่ยวบิน และวันที่ 9 เมษายน 2564 จำนวน 1 เที่ยวบิน หากผู้ที่ประสงค์จะกลับไทยสามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง Facebook : Royal Thai Embassy,Yangon, โทรศัพท์ (+951) 222 784 และ (+951) 226 728 ในเวลาราชการ และโทรศัพท์ +95 9797002801 นอกเวลาราชการ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีสั่งกองทัพอากาศเตรียมเครื่องบิน c-130 รับคนไทยในเมียนมากลับประเทศว่า ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศในการเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว หากสถานการณ์จำเป็นค่อยมาว่ากัน แต่ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นต้องอพยพคนไทยกลับประเทศ
ส่วนมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ หลังสินค้าอุปโภคบริโภคในเมียนมามีราคาสูงขึ้นนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศ คงไม่ใช่รัฐบาลไปขายโดยตรงเท่านั้น ทั้งนี้ การขนส่งสินค้ายังเป็นไปตามปกติ แต่เป็นเพียงมีความต้องการภายในประเทศมากขึ้นกว่าเดิม พร้อมมองว่าการที่สินค้าราคาสูงขึ้นเป็นเรื่องของธุรกิจในห่วงโซ่ที่ต้องดำเนินการค้าขายต่อไป จึงขอให้แยกเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม เพราะถือว่าเป็นคนละเรื่อง ย้ำว่าไทยและเมียนมาเป็นคู่ค้ากันมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นหลายอย่างมีทั้งดีและไม่ดี ยืนยันว่ารัฐบาลจะขอทำอย่างเต็มที่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจบริบทของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาในเรื่องของการดูแลผู้อพยพ ที่มีภาระหน้าที่ผูกพันกันมาอย่างยาวนาน และวันนี้ต้องมีความระมัดระวังอย่างที่สุด ซึ่งไทยมีความพร้อม โดยเฉพาะด้านมนุษยธรรม ใครบาดเจ็บก็ดูแลรักษาให้ ซึ่งไทยจะปฏิเสธไม่ได้ แต่ต้องคำนึงถึงว่าไทยจะพบกับปัญหาอะไรบ้าง โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทั้งหมดแล้ว.-สำนักข่าวไทย