กรุงเทพฯ 22 ม.ค.- สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ค่าเฉลี่ยวัดได้ 59-97 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร พบว่าเกินมาตรฐานจำนวน 68 พื้นที่ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
วันนี้ ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ค่าเฉลี่ยวัดได้ 59-97 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร พบว่าเกินมาตรฐานจำนวน 68 พื้นที่ ทั้งพื้นที่เขตชั้นในของกรุงเทพฯ เช่น เขตพระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, สัมพันธวงศ์, สาทร, ดุสิต, ดินแดง, บางรัก และเขตพื้นที่ชั้นนอก เช่น หนองแขม หนองจอก บางขุนเทียน บางแค ประเวศ และคลองสามวา
โดยพื้นที่มีค่าฝุ่นสูงสุดจำนวน 2 เขต ได้แก่ หนองแขม และเขตจอมทอง วัดค่าฝุ่นได้เท่ากันที่ 97 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือพื้นที่เขตบางขุนเทียน และบางบอน ค่าฝุ่นวัดได้ที่ 96 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศที่วัดได้ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ แนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยทางเดินหายใจ
ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ระดับค่าฝุ่นพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 116.3 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจัดอยู่โซนสีแดง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยค่าฝุ่นได้พุ่งทะลุเกินค่าไปอยู่ที่หลักร้อยเป็นสัปดาห์ที่ 2 แล้วในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ พบว่ายังมีชาวนาลักลอบเผาซังข้าว ยิ่งทำให้ประมาณค่าฝุ่นพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตัวเมืองอ่างทองมีฝุ่นปกคลุมอย่างเห็นได้ชัด ประชาชนต้องสวมหน้ากากเพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปกคลุมไปทั่ว
ด้านสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะในช่วงเช้า ซึ่งหากพบอาการผิดปกติ เช่นแสบจมูก หายใจติดขัด วิงเวียนศีรษะ ขอให้ไปปรึกษาแพทย์ทันที
ส่วนสภาพอากาศในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี พบว่าหลายพื้นที่มีการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง PM2.5 จนมีลักษณะคล้ายหมอกควันปกคลุมไปทั่วเขตเมืองพัทยา โดยเฉพาะบริเวณชายทะเลพัทยาใต้ พบว่าปัญหาฝุ่นละอองส่งผลต่อทัศนวิสัยในการเดินเรือโดยสารข้ามฟากที่เป็นไปอย่างยากลำบาก ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น
นายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบในพื้นที่เมืองพัทยาไม่พบแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งเรื่องของควันจากท่อไอเสียของรถยนต์ก็พบว่าไม่มีปริมาณมาก แต่คาดว่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีการเผาทำลายพืชสวนไร่นา โดยค่าฝุ่นเมืองพัทยา วัดได้ที่ 99.2 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่มีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อย ๆ.-สำนักข่าวไทย