สธ. 18 ม.ค. – อธิบดี คร. เผยสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น คาด 27 ม.ค. เปิดตลาดกลางกุ้ง ส่วนการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด คาดภายในสัปดาห์นี้มีบริษัท แอสตราเซเนกา ในต่างประเทศ มาขึ้นทะเบียน ช่วยให้หากผลิตสำเร็จในไทยจะขึ้นทะเบียนได้เร็วขึ้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะสถานการณ์เกือบร้อยละ 90 อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ที่ผ่านมาทำงานเชิงรุกมาตลอด คาดว่าในวันที่ 26 มกราคมนี้ จะมีการบิ๊กคลีนนิ่งที่ตลาดกลางกุ้ง และ 27 มกราคม จะสามารถกลับมาเปิดตลาดได้ หลังมีการเชื่อมโยงไปใน 43 จังหวัด มีการติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาด 568 คน ส่วนการติดเชื้อจากบ่อนพนัน จ.ระยอง มีผู้ป่วยรวม 1,491 คน ติดเชื้อจากสถานบันเทิง กทม. 283 คน ติดเชื้อจากสนามไก่ชน ภาคกลาง 148 คน อย่างไรก็ตาม การสวมหน้ากากอนามัยยังคงมีความจำเป็นและเป็นการป้องกันโรคได้ดี และขอให้เลี่ยงสถานที่อโคจร
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนเรื่องการใช้แอปฯ ไทยชนะ มีส่วนในการคัดกรองคนเข้าไปใช้สถานที่ ส่วนหมอชนะ ขณะนี้มีคนดาวน์โหลดมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคม มีการแจ้งเตือนผู้เข้าใช้ในพื้นที่ จ.ตาก และฉะเชิงเทรา รวม 3,583 คน โดยย้ำว่า การใช้แอปฯ นี้มีส่วนสำคัญในการช่วยติดตามคน และหากพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ใกล้ ทางแอปฯ จะส่ง SMS เตือน 3 ครั้ง ติดต่อกัน 30 นาที ส่วนความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด ทราบว่า ทาง อย.จะอนุญาตให้ฉีดเป็นการฉุกเฉินในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะสอดรับการเริ่มฉีดวัคซีนในปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่รายละเอียดขอให้รอ อย.
นพ.โอภาส กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนโควิด จะมีคณะกรรมการติดตามผลอาการข้างเคียงจากการรับวัคซีนไปถึง 4 สัปดาห์ โดยผลกระทบที่อาจได้รับ อาจมี หรืออาจไม่มี หรืออาจเสี่ยง ทั้งนี้ ต้องมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาในเรื่องนี้ หากกรณีมีผู้ได้รับผลกระทบว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ หากเสียชีวิตก็ต้องมีการชันสูตร เบื้องต้นการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องของความสมัครใจ ขณะนี้มีการสำรวจหรือสอบถามแบบโพลบ้างแล้ว โดยวัคซีนที่จะทำการฉีดนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ได้รับผลกระทบ หรือมีผลข้างเคียงจำนวนมากที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ ด้วยเพราะราคาแพง และเราไม่ได้สั่งซื้อ ไม่มีการขึ้นทะเบียนในไทย
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขณะนี้บริษัท แอสตราเซเนกา ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ในต่างประเทศ ได้มีการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนในไทยกับ อย. โดยสำแดงเรื่องคุณภาพ การผลิต ขั้นตอนการผลิต เพื่อให้สามารถนำมาจำหน่ายในไทยได้ การยื่นนี้ เมื่อผ่านแล้วก็จะช่วยให้การผลิตวัคซีนของแอสตราฯ ในไทยขึ้นทะเบียนเร็วขึ้น โดยวัคซีนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ผลิตในไทย 26 ล้านโดส. – สำนักข่าวไทย