10 ม.ค.-บอร์ด อภ.อนุมัติเพิ่ม 5 สายการผลิตหน้ากากอนามัย ผลิตได้ 4.89 แสนชิ้นต่อวัน พร้อมกำชับการส่งมอบวัคซีนโควิด- 19 ลอตแรก 2 แสนโดส ให้เป็นไปตามแผนภายในกุมภาพันธ์นี้
คณะกรรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ดอภ.) ชุดใหม่ ประชุมครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2564 มีมติอนุมัติเพิ่มสายการผลิต 5 สายรวมเป็น 6 สายการผลิต สามารถผลิตได้วันละ 489,000 ชิ้น เริ่มทยอยเปิดการผลิต มีนาคมนี้และให้ อภ. ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขส่งมอบวัคซีนโควิด- 19 ลอตแรก 2 แสนโดส จากประเทศจีน จากจำนวน 2 ล้านโดส ตามแผนในเดือนกุมภาพันธ์ นี้
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ชุดใหม่ว่า บอร์ด อภ. ได้อนุมัติจัดซื้อเครื่องจักรผลิตหน้ากากอนามัย เพิ่มอีกจำนวน 5 สายการผลิต รวมเป็น 6 สายการผลิต สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ไม่น้อยกว่าวันละ 489,000 ชิ้น หรือประมาณ 10 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยหน้ากากอนามัยที่ผลิตเพิ่มขึ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกำลังการผลิตในประเทศที่จะเสริมความมั่นคงทางการแพทย์ได้และเป็นการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตหน้ากากอนามัยของประเทศไทย โดยสายการผลิตหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้น ทั้ง 5 สายการผลิตนี้ จะทยอยเปิดทำการผลิตได้ในเดือน มีนาคม จำนวน 2 สายการผลิต และครบทั้ง 5 สายการผลิตในเดือน พฤษภาคม 2564
นอกจากนี้ได้วางแผนจะร่วมกับภาคเอกชนในประเทศขยายกำลังการผลิต หน้ากากอนามัย ภายใต้มาตรฐานเดียวกับองค์การเภสัชกรรม โดยในเดือนมีนาคม 2564 จะสามารถผลิตได้เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 500,000 ชิ้นต่อวัน รวมทั้งจัดซื้อหน้ากากอนามัยชนิดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพและเพียงพอในการใช้งาน รวมทั้งมีราคาที่เหมาะสม
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้เร่งรัด อภ. ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 ชุดแรกของประเทศไทย จำนวน 2 ล้านโดส ตามที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายและได้ประสานจองไว้แล้ว จากบริษัท Sinovac Biotech Limited, People’s Republic of China ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีน ให้เป็นไปตามแผน และให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้บริษัทส่งมอบวัคซีนลอตแรกจำนวน 2 แสนโดส ในเดือนกุมภาพันธ์ นี้ และลอตต่อไปอีก 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส ภายในดือนมีนาคม และ เมษายน 2564 ตามลำดับ
ทั้งนี้คาดว่าจะขึ้นทะเบียนในประเทศจีนได้ภายในเดือนมกราคม 2564 และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย จะสามารถอนุมัติขึ้นทะเบียนได้ ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นองค์การเภสัชกรรมจะจัดซื้อและนำเข้าวัคซีนต่อไป โดยกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้จัดซื้อวัคชีนจากองค์การเภสัชกรรม เพื่อนำไปฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด 5 จังหวัดก่อน ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด โดยฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน อสม. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค และประชาชนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หากมีส่วนที่เหลือจะเก็บสำรองไว้.-สำนักข่าวไทย