รร.พูลแมน 13 พ.ย. – รมว.สธ. ย้ำรวบรวมข้อมูลการลดวันกักตัว 10 วัน ในประเทศเสี่ยงต่ำ เสนอ ศบค.ชุดใหญ่ สัปดาห์หน้า แจงเป็นการให้ข้อมูล รอบด้าน เพื่อเสนอนายกฯ ตัดสินใจ หากเห็นชอบคาดเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าปลายปีนี้ พร้อมชี้หากมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยจริง 10 ล้านคน โอกาสเจอคนป่วยหลุดรอดมี 100 คน เฉลี่ยเจอคนป่วย 1 สัปดาห์ พบ 2 คน ถือเป็นความเสี่ยงที่พอรับได้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดงาน Smart Living with COVID-19 ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านยาเวชภัณฑ์ และการรักษา ในการรับมือกับโควิด-19 โดยในส่วนของการลดวันกักตัว 10 วัน จากเดิม 14 วัน ทำตามหลักวิชาการทางการแพทย์ และเตรียมเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่ และ นายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยข้อมูลที่จะให้ ศบค.นั้น มีอย่างรอบด้าน แต่ทุกอย่างก็คำนึงความรู้สึกของประชาชน จึงอยากให้สื่อมวลชน ช่วยทำความเข้าใจ ว่าการลดมาตรการการกักตัวนี้ ทำในกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ ที่มีอัตราป่วย น้อยหรือเท่ากับไทย เท่านั้น

ส่วนประเทศที่มีอัตราการป่วยโควิดสูงยังคงกักตัว 14 วันเท่าเดิม ทุกอย่างมีเหตุผลและใช้ความรู้ทางวิชาการประกอบ คาดว่าจะมีการเสนอ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาในสัปดาห์ หากเห็นชอบมีการประกาศในราชกิจจา คาดว่าจะเริ่มเปิดประเทศไทยจริงปลายธันวาคม ต้อนรับปีใหม่ โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา นอกจากต้องรับการตรวจคัดกรองก่อนเข้าประเทศแล้ว ยังต้องตรวจเชื้อระหว่างกักในไทย โดยมีการตรวจในวันที่ 0, วันที่ 5 และ วันที่ 9 มีตั้งการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน ทั้ง IgM และ IgG
นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับความพร้อมด้านยา และเวชภัณฑ์ในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ มีสำรองไว้ 610,000 เม็ด และยาเรมดิสซิเวียร์ ชนิดฉีดอีก 710 หลอด ยังมีหน้ากากอนามัยและหน้ากากแบบ N95 และ ชุด PPE สำรองไว้จำนานมาก เชื่อว่าเพียงพอรับมือกับสถานการณ์ พร้อมย้ำขณะนี้ทุกประเทศยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด ดังนั้นวัคซีนป้องกันตนเองพื้นฐาน ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้าง มีระยะห่าง ยังจำเป็นที่สุด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลดการกักตัวจาก 14 วัน มาเป็น 10 วัน ไม่มีความแตกต่าง ส่วนใหญ่การพบผู้ป่วยจะพบใน 3-5 วันแรก พ้น 10 วัน ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยพบว่ามีอาการป่วยแล้ว หรือหากมีเชื้อก็มีปริมาณเชื้อน้อยมาก การลดวันกักตัวจะทำในกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ ที่มีอัตราป่วยและติดเชื้อน้อยกว่าไทย หรือเท่ากับไทย ได้แก่ จีน ไต้หวัน มาเก๊า และเวียดนาม ก่อน

ส่วนในประเทศที่มีอัตราป่วยติดเชื้อสูง ยังคง 14 วัน เท่าเดิม พร้อมกันนี้ยังแสดงสมมติฐานว่าหากมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยในปีหน้าประมาณ 10 ล้านวัน และเมื่อกักตัวเหลือ 10 วัน โอกาสที่จะพบคนป่วยติดเชื้อหลุดรอด มีแค่ 100 คน จาก 10 ล้านคน หรือคิดเป็นโอกาสพบผู้ป่วย 2 คนต่อสัปดาห์ ซึ่งการป้องกันในไทยยังคงเหมือนเดิมคือการสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ ซึ่งการแง้มประตูเปิดประเทศ ทำให้ประเทศเสี่ยงต่ำก่อนและแน่นอนต้องเผชิญความเสี่ยง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่พอยอมรับได้
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หากพบว่าการใช้มาตรการลดวันกักตัว 10 วัน ไปสัก 3 เดือน ไม่มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากก็อาจพิจารณาลดการกักตัวเหลือ 7 วัน จากนั้นก็อาจลดเหลือ 0 วัน เป็นตัว โดยมาตรการเหล่านี้ต้องมีการประเมินเป็นระยะ

นพ.โอกาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่ไทยต้องเผชิญหากมีการลดการกักตัวก็มีตั้งแต่พบผู้ป่วยเล้กน้อย เหมือนกรณีหญิงฝรั่งเศส หรือการพบผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อภายในครอบครัว หรือการติดเป็นจำนวนมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย และการล้างมือ มีระยะห่าง ส่วนมาตรที่จะต้องมีการปรับเพิ่มคือการเพิ่มระบบการบัญชาการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ให้มีทั้งระบบเขต และจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคเพิ่มขึ้น จากเดิม 1,000 ทีม เป็น 3,000 ทีม ในเดือนธันวาคม และมีระบบการติดตามผู้ที่รับการกักตัว ในสถานที่กัก เพื่อง่ายแก่การติดตาม .-สำนักข่าวไทย