กทม. 30 ต.ค.-“สมาคมฟ้าสีรุ้ง” และ “น้องแคนดี้” ร้อง กสม. ถูกปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิต และร้องขอให้ช่วยตรวจสอบว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์หรือไม่
สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นำโดยนายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย, นายปุญชรัสมิ์ ตาเลิศ หรือ “น้องแคนดี้” อายุ 33 ปี เจ้าหน้าที่ประสานงานสมาคมฟ้าสีรุ้ง ในฐานะเจ้าของตำแหน่งนางงาม Princess of Love เวที Miss Queen Rainbow Sky 2018 เดินทางเข้าพบนางสาวอารีวรรณ จตุทอง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือต่อคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. โดยอ้างว่าศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ปฏิเสธรับบริจาคโลหิตจากผู้หญิงข้ามเพศ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
นายกิตตินันท์ เปิดเผยว่า บุคคลที่เป็นสตรีข้ามเพศไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ที่ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้เราเคยต่อสู้ในเรื่องของหญิงรักหญิงมาเมื่อปี 2549 สำเร็จมาแล้ว กระทั่งมีการถอดถอนหญิงรักหญิงออกไป ยังเหลืออยู่แค่ประเด็นชายรักชาย รวมถึงบุคคลข้ามเพศด้วย
ด้านนายปุญชรัสมิ์ หรือ “น้องแคนดี้” ให้ข้อมูลว่า สมัยเรียนมหาวิทยาลัยฯ ในคณะแพทยศาสตร์ สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต เคยขอเข้ารับบริจาคโลหิตในรถโมบาย โดยพบว่าเพื่อนที่เป็นเกย์ หรือกระเทย ที่ไม่แสดงออกสามารถบริจาคได้ตามปกติ แต่ตนเองแสดงออกชัดเจน คือ ไว้ผมยาวและแต่งหน้า กลับถูกปฏิเสธ อ้างว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่รับบริจาค นอกจากนี้หลังเรียนจบมีใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แต่ไม่ได้ทำงานในวงการแพทย์ ได้พยายามขอบริจาคโลหิตอีกครั้ง พร้อมยื่นบัตรสภาการแพทย์แผนไทยให้ดู แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถบริจาคได้ กระทั่งล่าสุดเมื่อปี 2562 หลังจาก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ประกาศใช้ จึงได้เดินทางไปบริจาคโลหิตอีกครั้ง ท้ายสุดยังไม่สามารถบริจาคได้อีก ทั้งที่แฟนเป็นหญิงข้ามเพศ (ทอม) บริจาคได้ แต่ตนเองกลับบริจาคไม่ได้
ด้านนางอารีวรรณ รับเรื่องแล้วกล่าวว่า หลังจากนี้จะเข้ากระบวนการการรับเรื่องร้องเรียนแล้วจะทำการตรวจสอบ และการออกข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงาน กสม. พิจารณาเรื่องนี้ก่อนว่าเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ ถ้าเห็นว่าละเมิดสิทธิ์จะดำเนินการตรวจสอบ และมีหนังสือไปยังหน่วยงาน หากหน่วยงานไม่ปฏิบัติหรือแก้ไข ก็จะมีหนังสือไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำนักข่าวไทย ตรวจสอบข้อมูล พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 พบว่า กฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิ์ฟ้องร้องกับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทําในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพ รวมถึงสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย อีกทั้งสามารถให้องค์กรที่เกี่ยวข้องยื่นฟ้องคดีแทนได้ และผู้ใดเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยไม่เป็นธรรม มีโทษทั้งจำคุกและปรับ.-สำนักข่าวไทย