กรุงเทพฯ 12 ต.ค.- กรมอุตุฯ ยืนยัน พายุ 3 ลูกเกิดขึ้นจริง แต่ ณ ตอนนี้มีแค่ “หลิ่นฟา” ส่งผลต่อไทย ส่วนอีก 2 ลูกยังห่างไกล ไม่มีผลถึงไทย วอนฟังข้อมูลอากาศจากรมอุตุฯ โดยตรงจะดีที่สุด
จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการนำเสนอข่าวว่า ในสัปดาห์นี้ประเทศไทย จะมีพายุ 3 ลูก เรียงคิวเข้าไทยกระทบยาวตลอดทั้งสัปดาห์ คือ
- พายุหลิ่นฟา (Linfa) ส่งผลกระทบในวันที่ 11-13 ต.ค. 2563
- พายุลูกที่ 2 (คาดว่าชื่อ นังกา Nangka) กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ ส่งผลกระทบในวันที่ 14-15 ต.ค. 2563
- พายุลูกที่ 3 น่าจะแรงที่สุด (คาดว่าชื่อ โซเดล Saudel) กำลังก่อตัวใกล้ฟิลิปปินส์ ส่งผลกระทบในวันที่ 16-19 ต.ค. 2563
เรื่องนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายบริหาร และโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นข้อมูลที่ไม่ได้ออกมาจากกรมอุตุนิยมวิทยาโดยตรง แต่คงจะไม่ไปพาดพิงบุคคล หรือกลุ่มที่ออกมาให้ข้อมูล ซึ่งน่าจะเกิดจากการไปดูแบบจำลองโมเดลพายุที่เกิดขึ้นจริง แล้วก็นำไปพูด ไปให้ข้อมูล จนสร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับสังคม
ซึ่งในข้อเท็จจริง ทั้ง 3 ลูก แม้จะเกิดขึ้นจริง แต่ทางการตรวจสอบเส้นทางพายุของกรมอุตุฯ ยังไม่ได้แสดงถึงผลกระทบต่อประเทศไทยตามที่ถูกนำเสนอไป โดยลูกแรกที่กรมอุตุฯ ได้ประกาศเตือน คือ พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “หลิ่นฟา” ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนามแล้ว โดยเมื่อคืน (11 ต.ค.) ได้อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศลาวในเช้ามืดวันนี้
ส่วนลูกที่ 2 เกิดขึ้นแล้ว และมีการแจ้งเตือน คือ พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 3 (โซนร้อน) ในระยะต่อไป ขณะนี้พายุลูกนี้อยู่ในบริเวณทะเลจีนใต้ ใกล้กับเกาะฟิลิปปินส์ ยังคงเป็นพายุดีเปรสชัน โดยพายุลูกนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อไทยในช่วง 1-2 วันนี้อย่างแน่นอน
ส่วนลูกที่ 3 ตามที่เป็นข่าวนั้น จากการตรวจสอบ ยังไม่พบว่าก่อตัวเป็นพายุ ตอนนี้เป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำ ด้านตะวันออกไกลจากฟิลิปปินส์พอสมควร ต้องรอความชัดเจนอีกครั้งว่าจะกลายเป็นพายุได้หรือไม่ ยืนยันว่า ทั้ง 2 ลูก (2 และ 3) ยังไม่มีการตั้งชื่อ โดยหน่วยงานที่จะตั้งชื่อพายุ จะเป็นหน้าที่หน่วยงานด้านพายุจากประเทศญี่ปุ่น เราไม่สามารถไปตั้งชื่อเองแบบที่เป็นข่าวไม่ได้ เพราะมีกฎเกณฑ์การตั้งชื่อพายุที่ทั่วโลกปฏิบัติกันอยู่
โดยโฆษกกรมอุตุฯ ยืนยันว่า กรมอุตุฯ สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนเฝ้าระวังได้อย่างทันท่วงที ข้อมูลทั้งหมดเรื่องของพายุ หรือสภาพอากาศ อยากจะขอให้ฟังจากกรมอุตุนิยมวิทยาโดยตรงจะดีที่สุด.-สำนักข่าวไทย