กรุงเทพฯ 31 ส.ค.- อย.-อภ.สำรองหน้ากากทางการแพทย์กว่า 45 ล้านชิ้น ชุด PPE กว่า 1 ล้านชุด หน้ากาก N95 จำนวน 2.3 ล้านชิ้น พร้อมยา เวชภัณฑ์ สนับสนุนทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพียงพอรับสถานการณ์ระบาดระลอก 2
วันนี้ (31ส.ค.)ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วยดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม แถลงข่าว ความพร้อมด้านยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน และวัคซีน รองรับโควิด-19 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรองอุปกรณ์ป้องกัน ชุด PPE หน้ากาก N95 และยาอย่างเพียงพอ สำรองไว้ทั้งในส่วนกลางที่องค์การเภสัชกรรมและส่วนภูมิภาคในโรงพยาบาลทั่วประเทศ
โดยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีจำนวนกว่า 45 ล้านชิ้น เพียงพอใช้ 100 วัน มีกำลังการผลิต 3.4 ล้านชิ้นต่อวันจาก 45 โรงงาน ชุด PPE ทั้งที่เป็นชุดคลุม/เสื้อกาวน์ กว่า 1 ล้านชุด หน้ากาก N95 จำนวน 2.3 ล้านชิ้น ยาฟาวิพิราเวียร์เพียงพอรักษาผู้ป่วย 8,900 ราย ยาเรมเดซิเวียร์สำหรับผู้ป่วย 33 ราย ส่วนด้านวัคซีนนั้น อย.พร้อมให้การสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนโดยเร็ว ทั้งวัคซีนที่วิจัยและผลิตขึ้นเองในประเทศ และวัคซีนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยมีการผลิตหน้ากากทางการแพทย์ ชุด PPE และเป็นฐานการผลิตถุงมือ จึงมีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอรับมือหากมีการแพร่ระบาดระลอก 2
ด้าน ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมในฐานะองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ได้สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการรักษา จำนวน 590,200 เม็ด หน้ากาก N95 จำนวน 1,765,010 ชิ้น ชุด PPE แบบ COVERALL จำนวน 445,746 ชุด แบบ ISOLATION GOWN จำนวน 287,759 ชุด นอกจากนั้น ได้สร้างกลไกการสนับสนุน ยา อุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้ กับระบบสาธารณสุขไทยเป็นอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และการพึ่งพาตนเองของประเทศ โดยได้ศึกษาพัฒนาสูตรตำรับ ยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตเองในประเทศ คาดว่าจะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนในเดือนตุลาคม 2564 และได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำการวิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบสารเคมีตั้งต้นยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ค่อนข้างยาก แต่ต้องดำเนินการเพื่อความมั่นคงด้านยาของประเทศ
ดร.ภญ.นันทกาญจน์กล่าวต่อว่า ด้านชุด PPE ได้ร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน ผลิตชุด PPE รุ่นเราสู้ จากฝีมือคนไทย ที่สามารถซักใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง และได้ส่งมอบไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ จำนวนกว่า 44,000 ชุด พร้อมกันนั้น ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมชุด PPE จากเส้นใยรีไซเคิลจากขวดพลาสติก PET ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็น “PPE Innovation Platform นวัตกรรมชุด PPE ฝีมือคนไทย มาตรฐานสากล” ที่สามารถป้องกันเชื้อและการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน Level 3 ซักใช้ซ้ำได้มากกว่า 50 ครั้ง โดยถ้าสถานการณ์ที่จำเป็น Platform นี้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการผลิต ชุดPPE ได้ใช้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันภาคเอกชนได้ผลิตชุด PPE Level 3 ออกจำหน่ายให้กับสถานพยาบาลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ประสานผู้ประกอบการภายในประเทศ ผลิต PPE Level 4 สามารถป้องกันได้ในระดับสูงขึ้น จำนวน 60,000 ชุด จะจัดส่งภายในเดือนกันยายนนี้
สำหรับด้านวัคซีน ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในหลายรูปแบบ อาทิ ชนิดวัคซีนอนุภาคเหมือนไวรัส (Virus-like particle)พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และชนิดวัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine) พัฒนาโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ ใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง และได้ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายจากการตัดต่อยีนของไวรัสโควิด 19 เข้าไปในยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพื่อเป็นเชื้อไวรัสตั้งต้น หากสำเร็จจะนำเชื้อไวรัสตั้งต้นนี้ ไปผลิตเป็นวัคซีนโดยเทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ต่อไป คาดว่าการวิจัยพัฒนาวัคซีนทั้ง 3 ชนิด จะทราบผลเบื้องต้นในปลายปี 2563 การที่องค์การเภสัชกรรมมีโรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ ที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในระดับอุตสาหกรรมอยู่แล้ว นับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีศักยภาพและความพร้อมในระดับอุตสาหกรรม ที่สามารถใช้ต่อยอดประยุกต์สำหรับใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้เร็วขึ้น .-สำนักข่าวไทย