กรุงเทพคริสเตียน 31 ส.ค.-รมว.ศึกษาฯ เยี่ยมชมโครงการ “BCC SPACE PROGRAM : การส่งดาวเทียม BCCSAT-1 เข้าสู่อวกาศ” โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผลงานของนักเรียนระดับมัธยมดวงแรกของไทย เตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศ เดือนพ.ย.นี้ พร้อมจรวดของรัสเซีย
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เยี่ยมชมโครงการ “BCC SPACE PROGRAM : การส่งดาวเทียม BCCSAT-1เข้าสู่อวกาศ”ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ดาวเทียมผลงานนักเรียนระดับมัธยมศึกษาดวงแรกของประเทศไทยและของภูมิภาคอาเซียน
รมว.ศึกษาฯ กล่าวชื่นชมในความสำเร็จของโรงเรียนฯที่สร้างสรรค์ผลงาน ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ จนนักเรียนสามารถสร้างดาวเทียมภายใต้ชื่อ BCCSAT-1 ได้สำเร็จ และกำลังจะส่งดาวเทียมขึ้นโคจรรอบโลกในอวกาศ ซึ่งนับเป็นดาวเทียมผลงานนักเรียนระดับมัธยม ศึกษาดวงแรกของประเทศไทย และของภูมิภาคอาเซียนด้วย โดย “ดาวเทียมที่ส่งไปถือเป็นสมบัติและลิขสิทธิ์ทางปัญญาของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย”ถือเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งในวงการการศึกษาของประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นว่า นักเรียนไทยมีความรู้ความสามารถ ไม่แพ้นักเรียนชาติอื่นๆ สามารถคิดและลงมือปฏิบัติ โดยการประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีมาบูรณาการจากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อตัวนักเรียนเพียงเท่านั้น แต่เป็นคุณูปการต่อการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ
ด้าน เลขาธิการ กช. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ BCC Space Program ปัจจุบันมีนักเรียนในโครงการ36 คนคือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 23 คนและนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 13 คน โดยโครงการมีที่มาจากการที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาและมีแนวคิดที่จะพัฒนานักเรียนในโรงเรียนให้เป็นผู้ริเริ่มสร้างดาวเทียมแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อให้จุดประกายและสร้างความโดดเด่นแก่นักเรียน ทำให้เกิดอัตลักษณ์ในองค์กรทางศึกษาที่มีภาพลักษณ์ของการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และการก้าวกระโดดผ่านขีดจำกัดความสามารถของการจำกัดการเรียนรู้ของนักเรียนได้ จนเป็นที่ยอมรับขององค์กรระดับชาติและระดับโลกต่อไป
ทั้งนี้ โรงเรียนได้ทำความร่วมมือเป็นกรณีพิเศษกับบริษัท ASTROBERRY มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยโตเกียวในการพัฒนาพื้นฐานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศให้แก่นักเรียนผ่านการเรียนรู้ทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านอวกาศและดาวเทียม โดยเปิดสาขาการเรียนการสอนเกี่ยวกับการพัฒนาดาวเทียม ชื่อว่า Space Engineer Program หรือ วิศวกรรมการบินและอวกาศ ซึ่งการพัฒนาดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศเป็นหนึ่งในทิศทางของการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมของโลกที่สำคัญ
สำหรับกำหนดการส่งดาวเทียวขึ้นสู่วงโคจรช่วงเดือน พ.ย.63 โดยจะส่งไปที่ประกอบเข้ากับจรวดที่รัสเซีย ช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ โดยการใช้งานได้ประมาณ2 ปี แต่จะอยู่ในวงโคจร ถึง10-15 ปี ก่อนที่จะค่อย ๆ เผาไหม้ไปกับชั้นบรรยากาศ ต้นทุน เฉพาะดาวเทียม 7-10 ล้าน โดยได้งบสนับสนุนจาก สวทช.7 ล้านบาท
สำหรับดาวเทียวตัวนี้ จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร เมื่อขึ้นไปวงโคจร จะสามารถเก็บภาพถ่าย เพื่อนำมาประมวลผล วิเคราะห์ความสมบูรณ์ของพืชพรรณ เพื่อช่วยด้านการเกษตร ซึ่งประเทศไทยเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม .-สำนักข่าวไทย