ศธ.19 ส.ค.-รมว.ศึกษาฯไม่กังวลนักเรียนเป่านกหวีดไล่ เชื่อเปิดเวทีพูดคุย คือทางออก สั่งโรงเรียนมัธยม เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากนักเรียน สัญญาจะไม่มีการคุกคามละเมิดสิทธิในโรงเรียน
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังออกไปรับข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน ที่มาชุมนุมด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ว่า วันนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นและตนได้ออกไปรับฟัง ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับการเมือง การเมืองเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องด้านการพัฒนาการศึกษา คือโจทย์สำคัญ
วันนี้ผมดีใจที่น้องๆสนใจอนาคตการศึกษา เป็นกระบวนที่ทำอยู่ในหลายเรื่อง แต่เรื่องช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้บริหารกับนักเรียน ยอมรับยังไม่เปิดกว้าง นอกจากนี้ประเด็นไม่ได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม พร้อมชี้แจงกำลังปลดล็อกอยู่เพื่อทันต่อสถานการณ์โลก
ขณะเดียวกันมีบางเรื่องที่น้อง ๆ เรียกร้อง แต่ตนไม่สามารถรับปากได้ คือ การแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วในช่วงเคารพธงชาติทำไมไม่ทำแบบนี้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ตนชี้แจงว่าทุกคนมีความรักชาติ สิ่งที่แสดงออก ต้องมีการร้องเพลง เป็นเรื่องของทุกประเทศ มีเด็กถามว่าทำไมต้องทำตามชาติอื่น ตรงนี้ตนเปิดใจรับฟัง ย้ำว่าในทุกเรื่องที่มีข้อเสนอออกมา ได้คำนึงถึงประเทศชาติเป็นหลัก รวมถึงน้องๆถามถึงงบประมาณการศึกษาทุกปี ทำไมไม่เน้นการเรียนภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพื่อการแข่งขันทันโลก
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการแสดงออกทางการเมืองในโรงเรียน ตนสัญญากับเด็กว่าจะไม่มีการคุกคามเด็ดขาด เสียดายที่พูดกับเด็กกลุ่มเล็ก เนื่องจากแกนนำไม่ให้ขึ้นไปพูดบนเวที ยินดีพร้อมรับฟัง ส่วนเรื่องนักเรียนไว้ผมยาว เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ไม่คิดว่าเรื่องนี้กระทบกับการพัฒนาการศึกษา เรื่องการปลดล็อกยูนิฟอร์ม ต้องมีการทบทวนอีกครั้ง โดยชี้แจงว่าเมื่อวันที่ทำงานหลายองค์กรมียูนิฟอร์มที่ต้องใส่ถือเป็นการฝึก ส่วนความหลากหลายทางเพศรัฐบาลให้ความสนใจอยู่แล้ว
ทั้งนี้หากตนมีโอกาสขึ้นพูดบนเวทีวันนี้ จะแสดงความยินดีกับนักเรียนว่า อายุขนาดนี้ให้ความสนใจสิทธิตนเองและประเทศ แต่ต้องเข้าใจข้อมูลอย่างถี่ถ้วน เพราะ อนาคตของประเทศไทยอยู่ในมือของพวกเขา และต้องคำนึงถึงอนาตด้วย วันนี้เราต้องก้าวข้ามการยุยง แตกแยก ประเทศไทยต้องการความเข้าใจ ต้องจับมือไปด้วยกัน
ส่วนการแสดงสัญลักษณ์ต่างๆของน้องๆนักเรียน อยากสร้างความเข้าใจว่า อยากให้หาทางออกด้วยการเจรจา สิ่งที่พวกผมเคยทำมา ทำไมไม่หาทางออกที่แตกต่าง จากที่เคยมีมา เพราะสุดท้ายการทำเช่นนี้ก็ไม่สามารถหาทางออกให้เดินไปข้างหน้า หากมาพูดคุยจะดีกว่า ยอมรับสื่อโซเชียลมีผลว่าทำไมการเมืองถึงลงไปในระดับโรงเรียน หากมีเวทีที่ชัดเจน หวังว่าน้องๆจะเข้าใจ น่าจะลดความกดดันของครู แทนที่จะมีการแสดงออก ก็มาใช้เวทีตรงนี้ จะให้โรงเรียนมัธยม เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น เพื่อรับฟังปัญหา
การแสดงออกของนักเรียนสามารถทำได้ แต่ขอบเขตการแสดงออก ความก้าวร้าว ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ต้องมีการพูดคุย เชื่อว่า การคุกคามนักเรียน เป็นเพียง1% ในกว่า 30,000 โรงเรียน
นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำกับตนว่าต้องเปิดกว้างและเปิดเวทีให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ไม่กังวลมีนักเรียนมาไล่ ยอมรับทุกคนมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ .-สำนักข่าวไทย