สธ.30 ก.ค.-โฆษกอัยการย้ำพฤติกรรมตีกัน ก่อเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล ไม่ค้านแก้กฎหมายเพิ่มโทษ แต่สามารถใช้การบรรยายพฤติกรรมให้ศาล ลงโทษสูงสุดได้ โดยภาพจากกล้องวงจรปิด คลิปคือหลักฐานชั้นดี
ในการเสวนา “แนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินสถานพยาบาล” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และสภาการพยาบาล โดยมีอัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และบุคลากรสาธารณสุข ร่วมรับฟัง โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประกาศนโยบายและทิศทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสถานพยาบาล ว่า ตอนเข้ารับตำแหน่ง มองเพียงว่าเป็นหน่วยงานให้การรักษา ปลดทุกข์ประชาชน แต่ไม่เคยคิดในมิติที่จะมีคนเข้ามาสร้างความรุนแรงในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ผู้บริหารโรงพยาบาลนั้นๆ ต้องหามาตรการ การบริหารจัดการ ผู้บริหารโรงพยาบาลต้องมีวิธีการป้องกัน สร้างความเข้าใจ และประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ส่วนตัวแล้วไม่ยอมให้เรื่องนี้ผ่านไปได้
ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปี 2562 สงกรานต์ตีกันเยอะ มีการวิเคราะห์ข้อมูล และมีมาตรการ วางแผนผู้บริหารให้ความสำคัญ ดูแล สอดส่องความเรียบร้อย ปรับปรุงมาตรฐานห้องฉุกเฉินตามมาตรการที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กำหนด การแยกส่งผู้ป่วย และประสานการทำงานใกล้ชิดกับตำรวจ อัยการ การเพิ่มเวรยาม การกั้นไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามา โดยเฉพาะคนเมา รวมถึงเพิ่มงบประมาณในการที่ผ่านมาพบว่าการดำเนินคดีทุกราย ทั้งอาญา แพ่ง การเสียทรัพย์ การทำร้ายร่างกาย ไม่มีละเว้น และต้องรายงานทุกเรื่องให้ผู้บริหารกระทรวงรับทราบ
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ขนาดคนประวัติดียังหางานยาก แล้วถ้าคนที่ก่อความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน จะมีประวัติอาชญากรรมติดตัวก็จะยิ่งเป็นอุปกสรรคในการหางานในอนาคต อย่างไรก็กรณีที่มีการเสนอให้เพิ่มโทษในกรณีนี้นั้น ตนไม่ขัดข้อง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอขึ้นมา แต่ปัจจุบันคดีบุกรุกโรงพยาบาลตีกันในโรงพยาบาล ทำทรัพย์สินเสียหาย ทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ ทางอัยการจะบรรยายในสำนวนคดีส่งต่อศาลว่าเป็นพฤติกรรมท้าทาย ไม่เคารพ ไม่เกรงกลัวกฎหมายขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก พร้อมส่งมอบหลักทานภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษ ซึ่งโทษมีตั้งแต่จำคุก 6 เดือนถึง10 ปี เมื่อเราเขียนว่าขอให้ลงโทษสถานหนักก็จะมีการลงโทษในขั้นสูง
นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตามกฎหมายจะมีโทษเกี่ยวกับการทำผิดซ้ำด้วย ดังนั้น หากผู้ก่อเหตุเคยกระทำผิดมาก่อน ทางอัยการก็ฟ้องขอให้มีการเพิ่มโทษ 3 เด้ง คือโทษที่กระทำครั้งล่าสุด โทษที่เคยทำผิดไว้และอยู่ระหว่างรอลงอาญา และโทษที่ไม่เข็ดหลาบ วันนี้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล พิจารณาไปในทางเดียวกันว่าการก่อความรุนแรงในโรงพยาบาลเป็นพฤติกรรมท้าทายกฎหมาย ไม่ยำเกรงกฎหมายจึงลงโทษสถานหนัก
อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน ซึ่งปกติการลงโทษจะส่งไปควบคุมพฤติกรรมที่สถานพินิจ ตรงนี้ก็อาจจะส่งไปบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะในโรงพยาบาลตำรวจ หรือโรงพยาบาลทหาร เพื่อช่วยเหลือภารกิจงานของโรงพยาบาลคู่กับการควบคุมความประพฤติด้วย ขณะที่ผู้ปกครองก็ต้องรับผิดด้วย ทั้งละเมิดและอาญาเพราะไม่ควบคุม ปล่อยปละละเลยบุตร และถ้าเป็นการทำผิดซ้ำพ่อ แม่จะถูกจำคุก 3 เดือนไม่รอลงอาญา หลังจากที่มีวลีที่มักใช้กับทุกกรณีที่เยาวชนเป็นผู้ก่อเหตุคือ “ลูกฉันเป็นคนดี” เพราะถ้าดีจริง ต้องรู้จักแยกตัวอออกจากสิ่งไม่ดี
พล.ต.ต.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 กล่าวว่า มูลนิธิส่งผู้ป่วยข้ามเขต อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบ สิ่งที่อยาก จะฝากคือการติดตั้งกล้องวงจนปิดในพื้นที่โรงพยาบาลทั้งชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ทั้งนี้ บางครั้งเกิดเหตุการณ์ขึ้น แล้วบุคลากรทางการแพทย์ ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ดังนั้นควรมีพื้นที่ปลอดภัยไว้ด้วย รวมถึงการอบรมให้ความรู้มูลนิธิต่างๆ เพราะเป็นหน่วยแรกที่จะเข้าที่เกิดเหตุเพื่อนำคนเจ็บเข้าโรงพยาบาล ขณะที่เหตุการณ์คุกรุ่น เสนอโรงพยาบาลใช้ประตูเปิดปิดอัตโนมัติ ควรเป็นประตูที่ต้องกดเปิด ปิด .-สำนักข่าวไทย