กทม. 19 ก.ค. – รมว.ศธ. ชงแนวคิดตั้ง สหกรณ์กลาง สกสค. รองรับโอนหนี้ครู 9 แสนล้านบาท คาดเปิดให้ลงทะเบียนได้ภายใน 3 เดือนนี้
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กล่าวว่า เสียงสะท้อนจากครู นักเรียน และผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่ พบว่า มีหลายประเด็นสำคัญที่พ้องกับพื้นที่อื่นๆ เช่น เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ขณะนี้มีแนวคิดที่จะตั้ง “สหกรณ์กลาง สกสค.” เพื่อรองรับการโอนหนี้ครู โดยเริ่มจากวงเงิน 1 แสนล้านบาทจากธนาคารรัฐ และอาจขยายเป็นเฟส จนครอบคลุมหนี้ทั้งหมดประมาณ 9 แสนล้านบาท พร้อมวางแผนหาทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระดอกเบี้ยแก่ครู และทำให้กองทุนมั่นใจว่าความเสี่ยงต่ำ คาดได้รูปแบบชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า และน่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งคงต้องแก้ระเบียบของกรมส่งเสริมสหกรณ์ก่อน หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางเดิม จะพิจารณาทางเลือกอื่นต่อไป และต้องมีมาตรการไม่ให้ครูเป็นหนี้เพิ่มในอนาคต

ส่วนการลดภาระงานครู มีแผนลดภาระงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของครู เช่น งานบัญชี พัสดุ และการเงิน ซึ่งเสี่ยงต่อความผิดพลาดทางกฎหมาย โดยจะจัดหาอัตรากำลังช่วยงานสนับสนุน เพื่อให้ครูมุ่งสอนและพัฒนาเด็กได้เต็มที่ พร้อมทั้งผลักดันการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะให้ทันสมัยและจูงใจมากขึ้น เพื่อสร้างเส้นทางเติบโตในสายอาชีพครู และดึงดูดคนเก่งเข้าสู่วงการ
และมอบแนวทางให้ผลักดันการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เยาวชนเข้าใจรากเหง้าและพัฒนาการของประเทศอย่างถูกต้อง ไม่สับสนกับประชาธิปไตยในแบบต่างประเทศ เน้นให้เป็นวิชาหลักที่มีแบบเรียนชัดเจน และจัดการเรียนการสอนอย่างจริงจังเช่นในโรงเรียนต่างประเทศ
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ระบุว่า ผลการขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และการแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา (ZERO DROPOUT) ทาง สพท. และสถานศึกษา มีแนวทางป้องกันปัญหา ส่งผลให้แนวโน้มเด็กออกนอกระบบลดลง นักเรียนเรียนจบใช้วุฒิไปศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพได้ ผลการสอบ O-NET ของนักเรียนชั้นม.3 ในปีการศึกษา 2567 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ และค่าเฉลี่ยรวมสูงกว่าระดับ สพฐ. 4 รายวิชา คือ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ส่วน ม. 6 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ และค่าเฉลี่ยรวมสูงกว่าระดับ สพฐ. ทั้ง 5 วิชา ตลอดจนมีการขับเคลื่อนผู้บริหาร ครู ให้ตระหนักรู้การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) และเตรียมนักเรียนให้เกิดความพร้อม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางการประเมิน PISA.-416-สำนักข่าวไทย