23 ก.พ. – อาชีวะไทยไปไกลระดับโลก “ทีมเฟื่องฟ้า” วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 ศึก Shell Eco-marathon Asia-Pacific and the Middle East 2025 ที่กาตาร์
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวแสดงความยินดีหลังทีม “เฟื่องฟ้า” จากวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สร้างชื่อให้ประเทศไทย ด้วยการคว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia-Pacific and the Middle East 2025 เป็นการแข่งขันสุดยอดนวัตกรรมรถยนต์ประหยัดพลังงาน เพื่อเฟ้นหารถที่วิ่งได้ไกลที่สุดด้วยเชื้อเพลิงเพียง 1 ลิตร ระหว่างวันที่ 8 – 12 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สนามแข่งรถนานาชาติลูเซลล์ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์
เลขาธิการ กอศ . กล่าวว่า ทีมเฟื่องฟ้า วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา เข้าร่วมการแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia-Pacific and the Middle East 2025 สามารถคว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 มาครอง ในรถประเภทรถต้นแบบ (Prototype) พลังงานเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เชื้อเพลิงเบนซิน ที่วิ่งได้ไกล 806 กิโลเมตร ต่อเชื้อเพลิงเพียง 1 ลิตร และต้องเผชิญกับความท้าทายตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ไปจนถึงการตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยและเทคนิคกว่า 200 รายการ โดยมีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน 95 ทีม จาก 18 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและตะวันออกกลาง ซึ่งทีมเฟื่องฟ้า เป็นหนึ่งในทีมของประเทศไทย ที่สามารถทำผลงานโดดเด่น ด้วยความสามารถและความร่วมมือของนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา ที่สามารถนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านช่างยนต์ วิศวกรรมยานยนต์ และพลังงานทางเลือก มาพัฒนาสร้างนวัตกรรมที่แข่งขันได้ในระดับโลก

“สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้การสนับสนุนและพัฒนาทักษะผู้เรียนในมิติต่างๆ พัฒนาหลักสูตรให้ยืดหยุ่น และตรงกับทักษะวิชาชีพในปัจจุบัน จากความสำเร็จครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ว่า น้องๆ ทีมเฟื่องฟ้า มีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด และการเรียนสายอาชีวะ ไม่ใช่แค่การเรียนในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง ฝึกฝนทักษะเชิงปฏิบัติที่มีศักยภาพ คิดค้น พัฒนา และสามารถต่อยอดสู่ระดับนานาชาติได้อย่างสง่างาม”
เลขาธิการ กอศ . กล่าวต่อไปว่า ทีมเฟื่องฟ้า มีสมาชิกได้แก่ 1.นายไชยา ประตัง (ปวช. 2 ช่างยนต์ – ผู้จัดการทีม) 2. นายธนากร เสือภูมี (ปวส. 1 ช่างยนต์ – ช่างเครื่อง) 3.นางสาวเบญจวรรณ บรรฑิตย์ (ปวช. 1 ช่างไฟฟ้า – ผู้ขับขี่) 4. นายอภิสิทธิ์ หมั่นมณี (ปวช. 3 ช่างยนต์ – ช่างเครื่อง) 5. นายพรณรงค์ เสมาชัย (ครูที่ปรึกษาและผู้ควบคุมทีม) 6.นายพฤหัส นุชศิริ (ครูช่างไฟฟ้า – ที่ปรึกษาและล่ามแปลภาษา) และ 7.นายคีตนันต์ นาจำปา (ผู้อำนวยการ-ที่ปรึกษา) และการแข่งขันฯ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท Prototype Category (รถต้นแบบ) คือ รถ 3 ล้อ น้ำหนักเบา ออกแบบให้ใช้พลังงานต่ำที่สุด และ Urban Concept Category (รถแนวคิดเมือง) คือ รถ 4 ล้อ ลักษณะใกล้เคียงกับรถยนต์ทั่วไป และสามารถเลือกใช้พลังงานได้ 3 ประเภท ได้แก่ แบตเตอรี่ไฟฟ้า, เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเครื่องยนต์สันดาปภายใน
“การแข่งขันนี้เป็นหนึ่งในเวทีสำคัญระดับโลกที่ส่งเสริมให้เยาวชนและนักศึกษา พัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมผลักดันนวัตกรรมด้านพลังงานทางเลือกให้เกิดขึ้นจริง” เลขาธิการ กอศ.กล่าวปิดท้าย .-312-สำนักข่าวไทย