กรุงเทพฯ 14 มี.ค. – กทม.ร่วม คพ.และผู้เชี่ยวชาญ JICA ญี่ปุ่น ศึกษาวิจัยใช้หลักวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์หาต้นตอแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 เพื่อเสนอแนะมาตรการบังคับใช้แก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) และกรมควบคุมมลพิษ จัดสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนานโยบายและมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเรื่อง “PM2.5 pollution status and evaluation in Bangkok Metropolitan Region and reflection to PM policies and measures” โดยมีนางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. , Mr.Suzuki Kazuya หัวหน้าผู้แทน JICA ไทยแลนด์, ผู้เชี่ยวชาญ JICA และนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และตัวแทนเขต กทม.ทั้ง 50 เขต และตัวแทนจากจังหวัดปริมณฑล ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.กล่าวว่า โครงการความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหา PM2.5 เป็นความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและไทย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไจก้าได้ทำการศึกษาแหล่งกำเนิดฝุ่น ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะนโยบายในการแก้ปัญหาให้ได้ยั่งยืนต่อไป โดยมีการศึกษามาตั้งแต่ปี2021 จนถึงวันนี้ การศึกษาผ่านมาได้ครึ่งทางแล้ว
นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า โครงการนี้มีแผนศึกษาวิจัย 3 ปี ขณะนี้ได้ผลการศึกษาที่พอจะเห็นภาพรวมของปัญหา ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ และ กทม. มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ซึ่งส่งข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ ให้เห็นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งใน กทม.และปริมณฑล มีรูปแบบต้นกำเนิดฝุ่นที่คล้ายกัน ที่สำคัญคือพบว่า ต้นเหตุมีทั้งฝุ่น PM2.5 ที่เกิดมาจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และที่เกิดจากปฏิกิริยาจากมลพิษอื่น ๆ ซึ่งการแก้ไข นอกจากจะต้องควบคุมจากแหล่งกำเนิดฝุ่น นอกจากจะต้องควบคุมจากแหล่งกำเนิดฝุ่นแล้ว ยังต้องมีนโยบายแก้ไขมลพิษอื่นๆ ด้วย เช่น มลพิษที่เกิดจากภาคการจราจร มลพิษ NOx หรือไนโตรเจนออกไซด์ ที่เกิดไอเสียจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์ นำไปสู่ข้อเสนอแนะเรื่องมาตรฐานไอเสียและมาตรฐานน้ำมันเชื้อพลิง ซึ่งจากการศึกษาก็ชี้ให้เห็นว่ามาตรฐานยูโร 6 ก็ยังมีความจำเป็น รวมถึงควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ที่ต้องมีควบคุมให้ได้ผลเพื่อลดจำนวนให้ได้มากที่สุด ก็ยังเป็นมาตรงการที่จำเป็น
โดยข้อมูลจากกาลสัมมนาได้นำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา คือ 1.จัดทำบัญชีแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยเครื่องมือชนิดต่าง ๆ ที่ทำให้พบความสัมพันธ์กันของแหล่งกำเนิด และสาเหตุหลักๆ มาจากหลายแหล่งที่มาทั้งการจราจรหนาแน่น จากภาคอุตสาหกรรมสถานประกอบการ และมลพิษข้ามแดนที่มาจากทางจังหวัดใกล้เคียงและจากประเทศเพื่อนบ้าน และสำคัญจากปัจจัยสภาพอากาศที่ควบคุมไม่ได้ 2.ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น และ 3.ศึกษาการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ
ซึ่งจากงานวิจัย ทำให้ได้ข้อมูลเป็นรายพื้นที่ จากจุดที่มีการติดตั้งศูนย์วัดข้อมูลคุณภาพอากาศ ที่มีทั่ว กทม.และในจังหวัดปริมณฑล ทำให้สามารถออกมาตรการควบคุมแก้ปัญหารายพื้นที่ เช่น บางพื้นที่มีการก่อสร้างเยอะ บางพื้นที่ค่าฝุ่นจะสูงมาก ในช่วงการจราจรหนาแน่น การแก้ไขก็ต้องมีการทำให้ การจราจรตรงนั้น โฟล์วไปให้ได้เร็วที่สุด เป็นต้น และจากงานวิจัยยังชี้นโยบายลดฝุ่น ยังต้องให้ความสำคัญกับมลพิษที่มาของค่าฝุ่นอื่น ๆ ด้วย เช่น PM10 ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กันกับการเกิด PM 2.5 โดยผลจากงานวิจัยเมื่อแล้วเสร็จจะนำไปสู่ข้อสรุป เพื่อทำเป็นข้อเสนอแนะให้เป็นนโยบาย ในการบังคับใช้กฎหมายแก้ปัญหามลพิษทางอากาศต่อไป.-417-สำนักข่าวไทย